(เพิ่มเติม) สศก. คาด GDP เกษตร Q1/61 โต 3.8% มั่นใจทั้งปีโต 3-4% ได้ปัจจัยเรื่องน้ำ-อากาศ-นโยบายด้านเกษตรหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2018 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1/61 จะขยายตัว 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช มีการบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ประกอบกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้พืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิดมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้ในช่วงพ.ย.-ต้นธ.ค.60 หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงจะประสบปัญหาน้ำท่วมก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรมากนัก

สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับ ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางสามารถปลูกข้าวนาปีรอบสองได้ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนการปล่อยพื้นที่ให้ว่าง อ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานแทน รวมถึงโรงงานน้ำตาลมีการสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกอ้อย

สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2558 – 2559 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพารา และปลูกใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2555 มีการปลูกต้นยางแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางที่มีอายุมากแล้วปลูกใหม่ทดแทน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์ม จึงทำให้ต้นปาล์มสมบูรณ์และมีทะลายเพิ่มขึ้น ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิต และมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการออกดอกติดผล

ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 สินค้าพืชที่มีราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และลำไย โดย ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าว เพื่อทยอยส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการส่งออก และ ลำไย มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับปรุงคุณภาพของลำไยให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

สาขาปศุสัตว์ในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 1.4% เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาด และจัดการฟาร์มได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2561 สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยราคาสุกร ไข่ไก่ ลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำนมดิบค่อนข้างทรงตัว ส่วนราคาไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น

สาขาประมงในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 1.5% จากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำพอเพียงสำหรับการเลี้ยง ประกอบกับภาครัฐมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผลผลิตประมงน้ำจืดเพิ่มขึ้น ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) ปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2-4 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 3.6% โดยเกษตรกรมีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเกี่ยวนวดข้าวตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรัง และปริมาณน้ำฝนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปี นอกจากนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกอ้อยโรงงาน มีการใช้บริการเก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้น เพราะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากการส่งเสริมของโรงงานน้ำตาล

สาขาป่าไม้ในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 2.2% เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา ถ่านไม้ และครั่ง เพิ่มขึ้น โดยความต้องการไม้ยูคาลิปตัสภายในประเทศสูงขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) ขณะที่ไม้ยางพารายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน นอกจากนี้ ผลผลิตครั่งฟื้นตัวเต็มที่จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกครั่งในเดือนมกราคม 2561 เพิ่มสูงถึง 3 เท่าตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0-4.0% โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2560 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยมีทิศทางที่ดี ส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตและราคาสินค้าเกษตรในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ, ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในระยะต่อไปได้

เลขาธิการ สศก. ยังกล่าวถึงผลการวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ช่วงไตรมาส 1/61 (ม.ค.-มี.ค.) ข้อมูล ณ วันที่ 19 มี.ค. 61 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร อยู่ที่ระดับ 138 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 127 หรือเพิ่มขึ้น 8% โดยดัชนีผลผลิตในหมวดพืชผล เพิ่มขึ้น 10% หมวดประมง เพิ่มขึ้น 5% และหมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 3%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาส 1/61 อยู่ที่ระดับ 126 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 146 หรือลดลง 13% โดยดัชนีราคาในหมวดพืชผล ลดลง 14% หมวดประมง ลดลง 13% และหมวดปศุสัตว์ ลดลง 11%

ส่วนดัชนีรายได้เกษตร ไตรมาส 1/61 อยู่ที่ระดับ 175 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 186 หรือลดลง 6% โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดปศุสัตว์ ลดลง 9% หมวดประมง ลดลง 8% และหมวดพืชผล ลดลง 5%

"มั่นใจว่า ทั้งปี 61 ดัชนีรายได้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตร ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต" เลขาธิการ สศก.ระบุ

ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร เพิ่มขึ้น 18% โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มพืชผักเพิ่มขึ้น 12% โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ไก่แก่ กระเทียม และมันฝรั่ง ซึ่งรายได้เกษตรกรในกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ออกมาเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาราคาที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลกมีความต้องการสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง ผลผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกและเก็บสต็อก จึงให้ราคามันสำปะหลังโดยเฉลี่ย ไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 1 ปี 2560) รวมถึงสินค้าข้าว ซึ่งได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 ส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% โดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 3% และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ