สมาคมผู้เลี้ยงหมูประกาศปรับราคาขายหน้าฟาร์มเพิ่มเพื่อสะท้อนต้นทุนจริงหลังขาดทุนหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 5, 2018 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันชัย อัศวพันธุ์นิมิต กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประชาสัมพันธ์สมาคมฯ เปิดเผยว่า จากภาวะราคาหมูตกต่ำสะสมมากว่า 10 เดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ต้องเลิกเลี้ยงไปแล้วประมาณ 20% จากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศรวม 195,000 ราย ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของเกษตรกรทั่วประเทศ ต้องประกาศปรับขึ้นราคาขายหมูหน้าฟาร์มประจำสัปดาห์เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิต

"การที่สมาคมฯ ประกาศราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยประคับประคองและดูแลผู้เลี้ยงขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากการซื้อขายจริงของกลุ่มผู้เลี้ยงหมูทั้งสองกลุ่มยังซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนอยู่มาก ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนาน โดยตลอดช่วง 4 เดือนของปี 2561 นี้ เกษตรกรขาดทุนเฉลี่ย 1,500-2,000 บาทต่อตัว ซึ่งสามารถประเมินได้เป็นตัวเลขความเสียหายทั้งระบบประมาณ 8,400 ล้าน - 11,200 ล้านบาท ทั้งจากตัวเลขขาดทุนและหนี้สินเกษตรกรผู้เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น" นายวันชัย กล่าว

ทั้งนี้ แม้จะมีการขยับราคาประกาศขึ้นมาร่วม 1 เดือนแล้วก็ตาม แต่ราคาขายจริงของเกษตรกรกลับไม่ได้เป็นไปตามที่ประกาศไว้ เนื่องจากพ่อค้าคนกลาง หรือโบรคเกอร์ที่มารับซื้อหมูจากเกษตรกร ยังคงกดราคารับซื้อ โดยอ้างปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณมาก ทั้งๆที่ผ่านมาเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมมือกันดำเนินการมาตรการลดปริมาณหมูในระบบเพื่อแก้ไขปัญหาราคาหมูตกต่ำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาหมูและผลิตภัณฑ์ หรือพิกบอร์ด (Pig Board) และมาตรการที่กรมปศุสัตว์ได้มีการผลักดันและสนับสนุนให้ตัดวงจรการผลิต ทั้งการนำลูกหมูไปทำหมูหัน การปลดระวางแม่พันธุ์หมูเป้าหมาย รวมถึงการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2560 ถึงปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ