นายกฯ เปิดประชุม ACMECS CEO Forum ชูบทบาทภาคเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนศก.เพื่อการเติบโตยั่งยืนในอนุภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 15, 2018 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม "ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง" ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 โดยระบุว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS โดยอาศัยความได้เปรียบจากความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม เพื่อลดช่องว่างในการพัฒนา มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและในระดับท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองแบบยั่งยืนร่วมกันของอนุภูมิภาค

ทั้งนี้ โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศ ACMECS จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่ต้องยกระดับสินค้าเกษตรด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partners) ให้มีสมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้

ทุกชาติสมาชิกจึงเห็นพ้องในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) เพื่อปรับโครงสร้างและจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ดิจิทัล พลังงาน การเชื่อมโยงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุน และการเงิน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ภาคเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา ACMECS ในการเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินทางไปพร้อม ๆ กันดังนี้

1. ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงสร้างพื้นฐาน ในรูปแบบ Public - Private Partnership ไทยจึงได้ผลักดันให้บรรจุ เรื่อง การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของทิศทางการพัฒนา ACMECS ในอนาคต และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้น

2. ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ (smart farmer) ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Smart ACMECS

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นและสอดประสานกันมากขึ้น

3. ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนา สามารถเจริญเติบโตไปได้พร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind)

"การจัดเวที ACMECS CEO Forum ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคได้มาแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ เพื่อจะนำไปสู่ประเด็นความร่วมมือที่ภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง 5 ประเทศ สามารถจะเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้พร้อมกัน ตามหลักการที่ว่า Stronger Together and Leave to one behind ซึ่งจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง และร่วมมือกัน เพื่อประชาคม ACMECS โดยเชื่อว่าทุกคนในที่นี้มีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการต่อประเทศสมาชิก ACMECS โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข้ง เกิดการพัฒนาภาคเกษตรจากภายในสู่ภายนอก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่จำเป็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับชุมชน

นอกจากนี้ ไทยมองว่าภาคธุรกิจยังสามารถช่วยเร่งรัดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS ได้อีกด้วย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ ACMECS เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ตามนโยบาย Thailand + 1 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ในการจ้างแรงงาน ไทยมีนโยบายเปิดกว้าง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสม และมีศักยภาพ อีกทั้งยัง มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยและรัฐบาลมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนจากทุกประเทศมาร่วมกันพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS ให้ลึกซึ้ง แนบแน่น และเจริญก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้ทุกประเทศมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สามารถเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกันได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) อีกทั้งยังสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (inclusive growth)

ด้านสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า ใน 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของกัมพูชา เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี และเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำในปี 2015 ในสภาพแวดล้อมของภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูง และเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของกัมพูชาให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2030 และเป็นประเทศรายได้ระดับสูงภายในปี 2050 รัฐบาลกัมพูชาจึงได้มีมาตรการและนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน โดยเฉพาะการดำเนินตามมาตรการส่งเสริมขีดความสามารถของกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้า ดำเนินตามนโยบาย National Single Window เพื่อทำให้มีความชัดเจนและง่ายในระบบศุลกากร ด้านการประเมินราคาและการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อำนวยความสะดวก และเร่งรัดการส่งออกและนำเข้าสินค้า มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการขยายถนนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน การยกระดับท่าเรือสีหนุวิล

นอกจากนี้ กัมพูชายอมรับว่าภาษีไฟฟ้าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ใน ACMECS ซึ่งถือเป็นความท้าทายด้านการลงทุน แต่เพื่อแกัไขปัญหานี้ รัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างการทบทวนความเป็นไปได้ในการลดภาษีไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2019 และเพิ่มความพยายามในการรักษาเสถียรภาพและคุณภาพไฟฟ้า เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างการจัดตั้งธนาคาร SMEs และกองทุนในการพัฒนาธุรกิจกัมพูชา พร้อมกับมีมาตรการเพื่อส่งเสริมธุรกิจ SME เพื่อช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชากำลังแก้กฎหมายด้านการลงทุน และร่างกฎหมายการก่อสร้างเขตเศรษกิจพิเศษ และปรับปรุงระบบภาษีให้มีความทันสมัยมากขึ้น เตรียมตัวใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

"กัมพูชาขอเชิญผู้บริหาร และนักลงทุนมาเยือนกัมพูชา เพื่อแสวงหาโอกาสทางการลงทุน และให้ทราบถึงความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยมีเป้าหมายจะยกระดับสภาพแวดล้อมทางการลงทุน และขีดความสามารถของกัมพูชา" นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ