กลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้างเตรียมจัดทำแผนความร่วมมือศก. 5 ปี ตั้งเป้าขยายการค้า 2.5 แสนล้านดอลล์ในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2018 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 - 20 มิถุนายน 2561 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้สมาชิกตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคธุรกิจและนักวิชาการร่วมกันยกร่างแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าของ MLC ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2561 - 2565) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ เช่น พัฒนาให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิก MLC ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การจัดตั้งสภาธุรกิจ MLC และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าร่วมกันของ MLC และให้มีการจัดตั้งเครือข่ายทางการค้าระหว่างสมาชิกแม่โขง - ล้านช้าง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น โดยกำหนดให้จัดทำแผนให้แล้วเสร็จในปี 2561 ตั้งเป้าหมายให้กลุ่ม MLC สามารถขยายมูลค่าการค้าจากปัจจุบันที่ 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังได้แจ้งในที่ประชุม MLC ทราบแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4 โครงการ ที่ไทยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ของจีน รวม 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนี้

1. โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งหรือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างสมาชิก MLC โดยอาจใช้โมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่ประสบความสำเร็จ และมีภูมิประเทศใกล้เคียงกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มาเป็นต้นแบบในการเสนอรูปแบบในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างประเทศสมาชิก MLC ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ซึ่งกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการคือ การลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อประชุมหารือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และนักลงทุน รับฟังความเห็นและเสนอพื้นที่ศักยภาพ ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจร่วมของไทย และประเทศเพื่อนบ้านใน MLC

2. โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรและการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างสมาชิก MLC ให้สอดคล้องและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยสินค้ามีความคล่องตัว โดยจะเริ่มจากการพัฒนาศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ร่วมกันของสมาชิก (Joint One - Step Service) ที่จะใช้เป็นต้นแบบของโครงการ

3. โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคธุรกิจแม่โขง - ล้านช้าง โดยการคัดเลือกกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพของ MLC และจัดทำเป็น directory หรือฐานข้อมูลของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและต่อยอดธุรกิจระหว่างกันได้

4. โครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท โดยมีเป้าหมายให้ SMEs ในชนบทของ MLC ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้าสู่ตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางให้กับผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute หรือ MI) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 - 5 ปี

ประเทศสมาชิก MLC ประกอบด้วย กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, ไทย, เวียดนาม และจีน โดยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างกัน 79.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.6% โดยในปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก MLC 6 ประเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 220 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ