(เพิ่มเติม) เอกชนจีน-เกาหลี 3 ราย เข้าซื้อซองประกวดราคาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินวันนี้, รฟท.คาดจะประกาศผู้ชนะประมูลต้นปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2018 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5 ก.ค.) มีผู้สนใจมาซื้อซองเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเพิ่มเติมจำนวน 3 บริษัท คือ 1.China Resources (Holdings) Company Limited 2.CITIC Group Corporation และ 3.Korea-Thai High-Speed Railroad Consortium Inc.

ขณะนี้มีผู้เข้ามาซื้อเอกสารประมูลแล้วจำนวน 19 ราย ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 61 ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี), บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ปตท (PTT), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC),บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด,บมจ.ช.การช่าง (CK ), China Railway Construction Corporation Limited (CRCC), บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL), Chaina Railway Group Limited , Chaina Communications Construction Company Limited และในวันนี้มีอีก 3 ราย

ทั้งนี้ รฟท.กำหนดเวลาการขายเอกสารไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค.61 เวลา 09.00-12.00 น.และเวลา 13.00-15.00 น. หลังจากนั้นจะเปิดรับซองเอกสารเสนอราคาในวันที่ 12 พ.ย.61

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. คาดว่าจะสามารถสรรหาผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ภายในต้นปี 62 โดยหลังจากเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พ.ย.นี้ และรู้ผลว่าจะมีกี่กลุ่มเข้ามาร่วมประมูลโครงการนี้ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาพิจารณาทั้งด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค และด้านการเงิน ใช้เวลา 1-2 เดือนขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มที่ยื่นเข้ามามากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ นายวรวุฒิ คาดว่าจะมีผู้มายื่นซองประกวดราคาโครงการนี้ 4 กลุ่ม โดยจะมีเอกชนต่างชาติให้ความสนใจมากโดยเฉพาะจากประเทศจีน

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า ในส่วน BTS ได้รวมกลุ่มกับ STEC , RATCH เป็นกลุ่ม BSR ได้คุยกันแล้วเช้าร่วมประมูลด้วยกัน และรอดู บมจ.ปตท.(PTT)ที่ได้เคยเจรจากันไว้ก่อนหน้า เพราะเข้าใจว่า ปตท.เป็นบริษัทขนาดใหญ่คงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และก่อนจะเข้ามาร่วมทุนต้องให้บอร์ดปตท.อนุมัติก่อน นอกจากนี้ได้เจรจากับพันธมิตรต่างชาติ อย่างน้อย 2 รายจากยุโรปและเอเชีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งการก่อสร้าง ผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้า บริหารที่ดิน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้นที่จะร่วมมือกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) หากฝ่ายใดจะชนะก็ยังทำงานร่วมมือกันได้

"ผมคุยกับเจ้าสัวธนินท์มาตลอด กินข้าวกันหลายเที่ยว คุยกันทุกเรื่องเราก็เห็นความจำเป็นของ EEC ที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน เครือซีพีเป็นบริษัทใหญ่ มีศักยภาพ ผมกับซีพีร่วมมือกันได้ ถ้าซีพีชนะ โครงการนี้เราก็จะร่วมทำในสิ่งที่เราถนัด แต่ถ้าบีทีเอสชนะ ซีพีก็อาจมาช่วยได้ เพราะโครงการระดับประเทศไม่มีใครทำคนเดียวได้ ทุกคนต้องมองอนาคตของประเทศ การลงทุน Infrastructure เป็นการลงทุนระยะยาว ถ้าผมไม่ชนะก็ไม่เป็นไรยังมีโครงการอื่นรออยู่ อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีม่วง"นายคีรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ