ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด GDP ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเข้าสู่กรอบบนของประมาณการที่ 4.0-5.0% หลัง H1 โต 4.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจที่ 4.0-5.0% (ค่ากลางที่ 4.5%) โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 61 คาดว่า จะยังคงรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก

โดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการภาครัฐทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบกลางปี 61 การเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งในประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจตุรกี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจของตุรกีว่า น่าจะยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า ทำให้ประเด็นดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่การส่งผ่านผลกระทบมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่อย่างจำกัดในปีนี้

"ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อ ปัญหาเศรษฐกิจตุรกีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประเด็นดังกล่าวมองว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อย่างมีนัยสำคัญ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ครัวเรือนบางส่วน โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกยังมีความกังวลว่า สภาพภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมและภาคการค้า นอกจากนี้ หลายครัวเรือนยังกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งอาจจะทำให้ต้องดึงเงินออมส่วนหนึ่งมาใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 61 สะท้อนการเติบโตที่สมดุลมากขึ้นระหว่างภาคต่างประเทศ และการใช้จ่ายในประเทศ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ขยายตัว 4.6% ต่อปี สูงกว่า Consensus ที่ประมาณการไว้ที่ 4.5% ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก 61 ขยายตัว 4.8% ต่อปี โดยมีปริมาณผลผลิตเกษตรที่ออกมาในปริมาณมากเป็นตัวหนุนหลัก นอกจากนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนรวมถึงการลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่หนุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาด

การใช้จ่ายของครัวเรือนที่เติบโตสูงมาจากแรงหนุนของยอดจำหน่ายรถยนต์ และการใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศ ภาพการใช้จ่ายครัวเรือนยังเติบโตดีในหมวดยานพาหนะ สอดคล้องไปกับยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 23.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 12.1%ต่อปี รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของคนไทยในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งจากช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ