(เพิ่มเติม) กฟน. เผยก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อเป็นไปตามแผน พร้อมจ่ายไฟรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง-ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2018 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา กฟน. ได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการเตรียมความพร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD (Transit Oriented District) เพื่อเป็น Smart City ในพื้นที่กว่า 2,235 ไร่ รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย สีแดง (บางซื่อ – รังสิต) และรถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนในอนาคต ดังนั้น กฟน. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อเพื่อรองรับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,275.75 ล้านบาท

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟน. กำลังเร่งดำเนินก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อ เป็นไปตามแผนงาน โดยสถานีไฟฟ้าบางซื่อมีศักยภาพในการรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ (MVA) เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู

สำหรับการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดแบ่งออกเป็น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และสถานีกลางบางซื่อ 300 เอ็มวีเอ และพื้นที่พัฒนาฯ อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ Smart city อีก 300 เอ็มวีเอ นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายไฟให้แก่พื้นที่โดยรอบที่อยู่ภายนอกโครงการได้อีก 600 เอ็มวีเอ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 เอ็มวีเอ ซึ่งมั่นคง เพียงพอ และมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่พร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะแรกได้เตรียมพร้อมรองรับได้จำนวน 900 เอ็มวีเอ ส่วนในระยะที่สอง เมื่อมีการเพิ่มเติมรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ ในสถานีกลางบางซื่อ กฟน. ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการจ่ายไฟฟ้าได้อีกจนครบ 1,200 เอ็มวีเอ

นอกจากนี้ กฟน. ได้บูรณาการร่วมกับ กฟผ. เตรียมพร้อมระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉินโดยสามารถสับถ่ายเพื่อเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ.ในพื้นที่โดยรอบจำนวนกว่า 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว) รวมถึงการเชื่อมโยงจากสายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยข้างเคียงของ กฟน. เอง ทำให้เพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

ในด้านแผนดำเนินงาน กฟน. ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 60 ถึง 5 ธ.ค. 62 (รวมระยะเวลา 720 วัน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และคาดว่าจะเสร็จสิ้นทันกำหนดเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับสถานีกลางบางซื่อและโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต) ที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย.63 นี้ โดย กฟน. ยังได้ออกแบบระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่เป็นรูปแบบระบบสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมด เพื่อให้มีความมั่นคงเสถียรภาพ และช่วยปรับทัศนียภาพให้สวยงามมีความปลอดภัย และนอกจากนี้ในอนาคต กฟน. ยังมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบการควบคุมจัดการที่ทันสมัยด้วย Smart Micro Grid สนับสนุนการใช้พลังงานในรูปแบบ Green Energy เป็นไปตามนโยบายลดการใช้พลังงานจาก fossil เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

นายชัยยงค์ กล่าวอีกว่า การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อครั้งนี้นับว่าเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณนี้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการที่รฟท.มีแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) ในอนาคต โดยการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อนั้นจะมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่อาจจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่นั้น เห็นว่าการมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดียวกันกับที่กฟน.ที่ได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้อย่างเพียงพอแล้วนั้น อาจจะการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และอาจจะมีปัญหาในเรื่องการกู้คืนระบบไฟฟ้า หากเกิดกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าหลายโรงเข้ามาเชื่อมต่อระบบ

"ความเหมาะสมที่ว่าควรจะมีโรงไฟฟ้าอีกไหม มองว่าต้องมีทั้งหมด 4 มิติ อย่างแรกคือความพอเพียง ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะต้องมีไฟฟ้าเพียงพอให้ใช้ 2. ความมั่นคง หรือคุณภาพของระบบไฟฟ้า ที่จะต้องมีความเสถียรไม่ตก หรือดับ หรือมีสัญญาณรบกวนเข้ามาในระบบไฟฟ้า 3. การกู้คืนระบบไฟฟ้า ในกรณีที่ไฟฟ้ามีปัญหาขัดข้องต้องกู้คืนระบบไฟฟ้าให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการมีโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โรงมาต่อเชื่อมในพื้นที่นี้อาจจะมีทั้งบวกและลบด้วย ก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตเกิดขึ้นได้ในเรื่องการกู้คืน 4. การบำรุงรักษา ซึ่งเราต้องดูแลให้ครบ...ไม่ว่าหน่วยงานใดสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน.ก็ต้องสำรองไฟฟ้าให้เท่ากับความจำเป็นที่จะต้องใช้อยู่แล้ว เพราะเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโรงไฟฟ้าของหน่วยงานอื่น ๆ จะสามารถรองรับปริมาณใช้ไฟของศูนย์คมนาคมแห่งนี้ จะใช้หรือไม่ใช้ก็อีกเรื่องแต่ต้องมีการสำรองไว้"นายชัยยงค์ กล่าว

ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการเดินรถ รฟท. กล่าวว่า โครงการลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อพัฒนาให้เป็น Smart City น่าจะเป็นการเสริมซึ่งกันและกันกับสถานีไฟฟ้าของกฟน. โดยโครงการได้มีการพิจารณาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งมีประสบการณ์การลงทุนก็เข้ามาสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่มีการเปิดประมูลโครงการแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ