โฆษกคลัง เผยเตรียมเสนอแผนปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบต่อรัฐบาลชุดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2008 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มีการตั้งคณะกรรมการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และจัดทำแผนระยะ 5-10 ปี เพื่อเสนอปลัดกระทรวงการคลังเสร็จแล้ว ขณะนี้เตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่เพื่อพิจารณา 
ทั้งนี้ ยืนยันว่าตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 51 (ก.ย.51) จะไม่มีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% ตามที่เป็นข่าวซึ่งทำให้นักลงทุนและประชาชนเกิดความตื่นตระหนกอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นายสมชัย กล่าวว่า การจะปรับขึ้น VAT หรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะเป็นผู้พิจารณา เพราะการขึ้นหรือลด VAT 1% จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท VAT จะเป็นภาษีสุดท้ายที่รัฐบาลจะพิจารณาปรับ โดยจะดูให้รอบคอบถึงฐานะทางการคลัง ภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน
สำหรับแนวทางในการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบนั้น ยอมรับว่าจะมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกันจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รองรับรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
"ถ้ารัฐบาลไม่ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้ว รายได้ของรัฐบาลจะต่ำกว่ารายจ่ายอยู่หลายปี ไม่น้อยกว่า 4% ซึ่งยังไม่รวมถึงการขาดดุลงบประมาณ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการบั่นทอนวินัยทางการคลังของรัฐบาลในอนาคตได้ การปรับโครงสร้างภาษีไม่ควรทำภาษีเฉพาะตัว แต่ควรทำเป็น package" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์ที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจะเข้ามาปรับปรุงงบประมาณปี 51 ว่า การจัดทำงบประมาณขาดดุลสามารถเพิ่มวงเงินขึ้นไปได้อีก โดยอาจขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3.0% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ในกรอบไม่เกิน 2% ต่อจีดีพี เพื่อให้เกิดผลในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจน
แต่หากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยหากจีดีพีสามารถขยายตัวได้ถึง 5% ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล แต่ถ้าเป็นการทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ประกอบด้วย ราคาน้ำมัน จากก่อนหน้านี้เคยประเมินว่าจะไม่เกิน 83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ขณะนี้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่มจี-7 ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกดดันราคาน้ำมัน คาดว่าภายใน 3 เดือน ก็น่าจะสามารถทราบแนวโน้มความเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สอง ได้แก่ ค่าเงินบาท ซึ่งยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวตาม โดยประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้ว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 33.80 บาท/ดอลลาร์ และยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และถือเป็นปัจจัยใหม่ นั่นคือ โรคระบาดต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้เป็นวัฏจักรของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้
นายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนก.พ.51 จากเดิมที่กระทรวงการคลังเคยประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวที่ 5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ