รมว.คมนาคม คาดเซ็นสัญญา 2.3 รถไฟไทย-จีน ภายในม.ค.62 ที่ปักกิ่ง ลุ้นจีนลดดอกเบี้ยเหลือต่ำกว่า 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 23, 2018 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 26 วันนี้ได้มีข้อสรุปร่วมกันใน 6 ประเด็น โดยเห็นชอบร่วมกันในหลักการของสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) เพื่อแก้ไขประเด็นที่คงค้างให้สามารถลงนามสัญญา 2.3 ได้ภายในปลายเดือนม.ค.62 และลงนามร่วมกันในการประชุมครั้งที่ 27 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยเหลือประเด็นความร่วมมือทางการเงิน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งฝ่ายจีนเสนออัตราดอกเบี้ยที่ 3% นั้น ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการคลังได้ขอเจรจาที่อัตรา 2.6% ซึ่งรอคำตอบยืนยันจากจีนภายในเดือนธ.ค.61 ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการประกวดราคาช่วงสีคิ้ว - กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ของโครงการรถไฟไทย - จีน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาของฝ่ายไทย โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2562

ส่วนที่เหลือ 12 ตอน ระยะทาง 238.5 กม. จะทยอยประกาศ TOR ประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา โดยในเดือนม.ค.62 จะประกาศประมูลจำนวน 5 สัญญา และในเดือนก.พ.62 ประมูลอีก 7 สัญญาที่เหลือ และถือว่างานโยธาในเฟสแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบทุกสัญญา โดยใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดว่างานโยธาจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ขณะที่ตั้งเป้าเปิดเดินรถตั้งแต่กรุงเทพ-นครราชสีมา ในปี 2565

การดำเนินโครงการระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 355 กม. ตั้งเป้าเริ่มภายในปี 2562 โดยที่ประชุมตกลงให้ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ที่ประชุมเห็นชอบให้ฝ่ายไทยทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด งบประมาณ จำนวน 1,200 ล้านบาท

ส่วนจุดเชื่อมต่อ ระหว่างไทย (หนองคาย) - สปป.ลาว (เวียงจันทน์) นั้น จากผลการหารือทวิภาคีระหว่าง รมว.คมนาคมของประเทศไทย และ รมว.โยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 9 พ.ย.61 ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเห็นชอบให้มีการหารือสามฝ่ายระหว่างไทย-จีน-ลาว ในรายละเอียดร่วมกันในเดือนม.ค.62

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ไทยและจีนได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรฝ่ายไทย ประมาณ 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมในประเทศไทย โดยฝ่ายไทยขอให้จีนเตรียมคู่มือสำหรับการเดินรถและการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมการเดินรถในประเทศไทย

รวมทั้งเห็นชอบร่วมกัน โดยร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบชิ้นส่วนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ