รมว.พาณิชย์ พอใจราคาข้าวไทยขยับขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการบริหารจัดการผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2018 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว และพบปะกับเกษตรกรในอำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิว่า ราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกหอมมะลิปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาล ราคาสูงถึงตันละ 15,500-17,600 บาท สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% แนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปัจจุบันมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับจีนและฟิลิปปินส์ และยังมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอีก ทำให้ผลผลิตข้าวมีตลาดรองรับในช่วงต้นฤดู ส่งผลดีทำให้ราคาสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ข้าวเปลือกเหนียว ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาเพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้าวเปลือกหอมมะลิ

"การที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการข้าวสารในสต็อกรัฐบาลจนหมดแล้ว จึงไม่มีแรงกดดันต่อราคาตลาดข้าวอีกต่อไป ประกอบกับ มีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาข้าวขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น"

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลได้นำมาใช้ เช่น มาตรการจูงใจให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก กรณีไม่มียุ้งฉาง แต่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกรสามารถเอาข้าวไปฝากเก็บ จะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท ถ้ามียุ้งฉางได้ตันละ 1,500 บาท ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้าว และหากต้องการเงินไปใช้ กรณีข้าวเปลือกหอมมะลิ ก็เอาข้าวไปวางค้ำประกันไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้เงินตันละ 11,800 บาท ต่อไปเมื่ออยากขาย ถ้าราคาข้าวสูงขึ้นเป็นตันละ 16,000-18,000 บาท เกษตรกรก็จะได้ส่วนต่างจากการนำข้าวไปขายอีกตันละ 4,000-6,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้รับเงินจากรัฐบาลทันทีเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ โดยได้ให้แก่เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกิน 18,000 บาท โดยหากรวมรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ ทั้งค่าฝากเก็บ ค่าเก็บเกี่ยว ค่าปรับปรุงคุณภาพ และส่วนต่างราคาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวเปลือกหอมมะลิสูงถึงตันละ 22,000 บาทหรือมากกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้โอนเงินค่าเก็บเกี่ยวเข้าบัญชีเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่ประกาศภัยพิบัติแล้วทุกราย จำนวน 2 ล้านราย คิดเป็นเงิน 28,943 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ