พาณิชย์ มั่นใจมูลค่าใช้สิทธิ FTA-GSP ทั้งปีสูงกว่าเป้า หลัง 10 เดือนโตเฉียด 9%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2018 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คาดว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ไว้ที่ 9% (คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

โดยในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.61) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 62,418.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 75.02% ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.98% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้FTA 58,391.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษ GSP 4,026.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 58,391.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 76.40% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.82% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 22,409.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 14,708.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 7,837.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,338.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 3,719.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 58.62% รองลงมาคือ อินเดียและเกาหลี ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 23.58% และ 22.73% ตามลำดับ

ทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (103.77%) 2) ไทย-ญี่ปุ่น (92.04%) 3) ไทย-เปรู (90.54%) 4) ไทย-ออสเตรเลีย (90.47%) และ 5) อาเซียน-จีน (89.78%) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

ในปี 2562 คาดว่าจะมีความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้เพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ คือ อาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) ซึ่งได้ข้อสรุปในการเจรจารอบสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการภายในของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยความตกลงฯ ดังกล่าว ถือเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่สนใจจะใช้เป็นช่องทางให้สินค้าไทยเจาะตลาดจีนและตลาดอื่นๆ โดยใช้ฮ่องกงเป็นประตู (Gateway) ด้านการค้าและการลงทุนเชื่อมโยงไทยไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีนและตลาดในภูมิภาคอื่นทั่วโลก เนื่องจากฮ่องกงมีบทบาทสำคัญในนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน และได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากจีนภายใต้ความตกลงทางการค้ากับจีน รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการเงิน การค้า และโลจิสติกส์

นอกจากนี้ยังมี FTA ใหม่ๆ ที่น่าติดตาม ซึ่งเพิ่งเริ่มเปิดการเจรจาและคาดว่าจะมีการเจรจาที่มีความคืบหน้าอย่างมากในปีหน้า ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา และความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และ FTA จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้แก่สินค้าไทย อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นประตูสู่การค้าและการลงทุนเชื่อมโยงไปภูมิภาคขนาดใหญ่ คือ เอเชียใต้ และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-ตุลาคม) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 4,026.73 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 59.38% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 11.36% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3,606.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 68.72 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 5,248.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 3.86% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

นายอดุลย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามมองภาวะการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ซึ่งมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ความผันผวนของนโยบายการค้า และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุน แต่กรมฯ เชื่อมั่นว่าสินค้าไทยยังมีโอกาสส่งออกไปตลาดจีนรวมถึงตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพได้มากขึ้น ทำให้คาดว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ