สนข.ศึกษาแนวทางบริหารจัดการพลังงานสนามบิน ระยะสั้น-กลาง-ยาว คาดสรุปใน ม.ค. ก่อนชงครม.เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 8, 2019 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการการประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่รายงานการศึกษาโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศในประเทศ ว่า จากการศึกษา พบว่าในปี 2560 ท่าอากาศยานทั่วประเทศ ใช้พลังงานรวม 175,630 toe (กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,158,025 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า โดยมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 70% และไฟฟ้า 30%

เมื่อวิเคราะห์ตามพื้นที่กิจกรรม พบว่าพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) ใช้พลังงานมากที่สุด 62-65% รองลงมา พื้นที่อาคารผู้โดยสาร ใช้พลังงาน 30% และในพื้นที่การบิน (Airside) ใช้พลังงาน 5-10% ตามลำดับ

สำหรับพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนมากมาจากรถยนต์ส่วนบุคคล และการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานด้วยรถกึ่งสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถเช่า พื้นที่อาคารผู้โดยสาร การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนมากมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ และไฟฟ้าส่องสว่าง และพื้นที่การบิน (Airside) การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนมากมาจากรถบัสรับ-ส่งผู้โดยสาร และอุปกรณ์ให้บริการภาคพื้นต่างๆ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ คาดว่าอีก 20 ปี หรือภายในปี 2580 ท่าอากาศยานทั่วประเทศจะใช้พลังงานรวมถึง 396,518 toe และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,557,523 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า ซึ่งการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 มีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 หรือเท่ากับการลดการใช้พลังงานลงประมาณ 56,142 ktoe โดยการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งทุกโหมด 30,213 ktoe ในปี 2579 คิดเป็นสัดส่วน 58% ของการใช้พลังงานทั่วประเทศในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553

โดยได้คัดเลือกสนามบินนำร่อง 3 แห่งที่มีปริมาณผู้โดยสารมาก ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ สนามบินกระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน , สนามบินภูเก็ต ของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. สนามบินสมุย บมจ. การบินกรุงเทพ (BA) และได้ข้อสรุปเสนอเป็นแนวทางมาตรการที่เป็นประโยชน์ และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานการขนส่งทางอากาศ ระยะสั้น 3 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 10 ปี

แผนระยะสั้น 3 ปีที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ได้แก่ 1.การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ในอาคารผู้โดยสาร,สำนักงาน,ร้านค้า,ที่จอดรถ 2.ปรับปรุงผนังอาคาร เช่น ติดฟิลม์กันความร้อน 3.บริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยานเพื่อการประหยัดพลังงาน เช่น ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation Control/Motion Sensor) การแยกสวิทช์เปิด-ปิดไฟฟ้าส่องสว่าง การใช้ระบบ BMS ควบคุมพลังงานในอาคาร ส่งเสริมใช้ระบบ Online และเพิ่ม Self Check-In 4. ติดตั้งระบบติดตาม (Tracking) บนยานพาหนะและอุปกรณ์ GSE 5.พัฒนาทักษะบุคลากรในการปฏิบัติงานในพื้นที่ท่าอากาศยาน 6. การศึกษาพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) การศึกษาออกแบบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ท่าอากาศยานตามหลัก Green Design/Green Building เพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

แผนระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 10 ปี ได้แก่ 1.การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครื่องปรับอากาศ 2. การเปลี่ยนมาใช้รถบัสรับส่งผู้โดยสารพลังงานไฟฟ้ารับ-ส่งผู้โดยสารในพื้นที่การบิน 3. การสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่การบิน 4. การใช้รถโดยสารสาธารณะระบบไฟฟ้า EV ให้บริการเดินทางมาสนามบินและ 5. ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สำหรับผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน

โดยหากมีการดำเนินการตามแผนงานมาตรการใด ๆ ในอีก 20 ปี ข้างหน้า หรือในปี 2580 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลช่วยประหยัดการใช้พลังงานประมาณ 61,681 toe และลดก๊าซเรือนกระจก 648,276 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 15%และ 25%

อย่างไรก็ตาม จะสรุปผลในเดือนม.ค. 2562 จากนั้นจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบเพื่อให้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติและต่อยอดในการดำเนินการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ