รมว.เกษตรฯ คาดปีนี้ผลผลิตทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลองกอง-ลำไยออกสู่ตลาดมาก กำชับเน้นบริหารจัดการเชิงคุณภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 8, 2019 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแผงค้าริมทางตลาดเนินสูงและเป็นสักขีพยานในการลงนามรวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออกที่ทาง จ.จันทบุรี จัดขึ้นว่า จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 จะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาทุกชนิด คือ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้น 26.73% เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้น 12.29% มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้น 146.53% และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้น 44.98% ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้น 0.61%

โดยหากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน ผลผลิตจะออกมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้กำชับให้มีการคัดคุณภาพและบรรจุสินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เป็นแห่งการผลิตผลไม้คุณภาพ ใช้การตลาดนำการผลิต โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้น และมีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนหรือเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการทำเกษตร

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ เน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตาม

มาตรฐาน GAP รวมกลุ่มแปลงใหญ่ และเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ และระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล และหลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล เพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เกษตรกรต้องสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

สำหรับผลผลิตทุเรียนได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารผลไม้ เพื่อเตรียมการบริหารจัดการทุเรียน โดยกำหนดไว้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ภายในปี 2562 เน้นการควบคุมคุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ใกล้ถึงฤดูกาลผลิตทุเรียน จะต้องให้เกษตรกรผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP นอกจากนี้ ยังคุมเข้มเรื่องทุเรียนอ่อนให้เข้มงวดมากขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตรจะตั้งด่านสกัด เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกนอกแหล่งผลิต และในระยะยาว (ปี 2562 - 2566) ในด้านการผลิตจะเน้นการลดต้นทุน พัฒนาและขยายการผลิตนอกฤดู รวมทั้งการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็งสอดคล้องกับเกษตรแปลงใหญ่ มีมาตรการบังคับให้ผลิตตามเขตพื้นที่ความเหมาะสมเป็นหลัก และควบคุมคุณภาพทั้งในและนอกฤดู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ