พาณิชย์ เดินหน้าเจรจาประเทศคู่ค้า FTA เปิดตลาดสินค้าข้าวไทยเพิ่มเติม หวังดันการส่งออกโต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2019 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอของไทย 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ที่จะมีผลใช้บังคับในเดือนมิถุนายน 2562 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยจะเดินหน้าเจรจาผลักดันเปิดตลาดสินค้าข้าวไทยเพิ่มเติมเพื่อสร้างแต้มต่อข้าวไทยในตลาดโลก

โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น 144% ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 155% นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น 135% เปรูเพิ่มขึ้น 464% และชิลีเพิ่มขึ้น 200% เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยกเลิกและทยอยลดการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนที่เพิ่งเริ่มลดภาษีสินค้าข้าวบางรายการให้ไทยเมื่อปี 2561 และในรายการสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสี รวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งจีนยังคงอัตราภาษีที่ 50% ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย จัดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวและยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราที่สูง โดยเกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 513% อินเดียเก็บภาษีนำเข้าข้าวที่ 70-80% และญี่ปุ่นยังใช้ระบบโควตาภาษี โดยการนำเข้าข้าวภายใต้โควต้า 682,000 ตันต่อปี จะไม่เสียภาษี แต่การนำเข้าข้าวนอกโควต้า ต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สถิติในปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกในปริมาณกว่า 11,089 ล้านตัน เป็นมูลค่า 5,619.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.34% เมื่อเทียบกับปี 2560 คิดเป็นสัดส่วน 2.02% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน สัดส่วน 20.12% เบนิน สัดส่วน 11.19% และจีน สัดส่วน 9.81% เป็นต้น

ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ รวม 1,870.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 33.29% ของการส่งออกสินค้าข้าวของไทย

"เอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่ง กรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น" นางอรมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ