สภาผู้ส่งออก ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เหลือโต 1% จากเดิมคาดโต 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2019 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 62 โต 1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.0 (+/- 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 พ.ค. 2562 = 31.56 เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.5 – 31.9 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

โดยการส่งออกเดือนเม.ย. 62 มีมูลค่า 18,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 20,012.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- เม.ย. ปี 62 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 80,543.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 79,993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กระทบกำลังซื้อ สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่าการค้าโลกเริ่มชะลอตัวลงชัดเจน

2) ความยืดเยื้อของสงครามการค้าและการปรับขึ้นภาษีรอบที่ 4 วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการหาช่องทางระบายสินค้าไปยังประเทศที่สามแทน รวมถึงมาตรการทางการค้าที่สหรัฐดำเนินกับประเทศอื่น ส่งผลกระทบกับการค้าทั่วโลก เช่น เม็กซิโก (ขึ้นภาษี 5% ป้องกันการอพยพ) อิหร่าน (ห้ามซื้อน้ำมัน) ถอนตัวจาก Paris agreement เกาหลีเหนือ (คว่ำบาตร, อาวุธ) อินเดีย (เตรียมตัดสิทธิ์ GSP) ล่าสุด จีนได้ยุติการซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ และไม่มีแผนที่จะซื้อถั่วเหลืองล็อตใหม่

3) สงครามการค้า กระทบต่อการตัดสินใจในการเพิ่มการลงทุน หรือการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำให้ภาคการส่งออกชิ้นส่วนเพื่อไปประกอบยังสหรัฐและจีนชะลอตัวลง

4) ปัญหากฎระเบียบในประเทศที่ไม่เอื้อต่อการสถานการณ์ส่งออกที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยส่งเข้าไปทดแทนตลาดจีนและสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกจะมีการพัฒนา branding and quality รองรับตลาดส่งออกแล้วก็ตาม

อนึ่ง ในการแถลงสถานการณ์ส่งออกครั้งก่อน สภาผู้ส่งออก ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปี 62 เหลือโต 3% จากเดิมที่เคยคาดโต 5%

ทั้งนี้ สรท. จัดทำ "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ" เพื่อเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลใหม่ในการรับมือกับอุปสรรคทางการค้า ประกอบด้วย 1) การเปิดตลาดการค้าใหม่และเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 2) ส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3) ยกระดับความพร้อมของบุคลากรให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบัน

4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ 5) สร้างเสถียรภาพด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน 6) ส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน และ 7) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ