(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ค. ขยายตัว 1.15% CORE CPI ขยายตัว 0.54% ยังคงกรอบทั้งปี 0.7-1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2019 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. อยู่ที่ 103.31 ขยายตัว 1.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.48% จากเดือนเม.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 0.92%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนพ.ค.62 อยู่ที่ 102.50 ขยายตัว 0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.10% จากเดือนเม.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) โต 0.60%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.06 เพิ่มขึ้น 2.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.07% จากเดือนเม.ย.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.34 เพิ่มขึ้น 0.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% จากเดือนเม.ย.62

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.62 ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.15% นั้น เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยการสูงขึ้นมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหารสด ซึ่งอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของภัยแล้งและความผันผวนของฤดูกาล ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลง ในขณะที่ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลกเป็นปัจจัยลดทอนที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ เช่น การใช้จ่าย และรายได้ของประชาชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง

โดยในเดือน พ.ค.นี้ จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคที่ใช้สินค้าโดยรวมในตระกร้า 422 รายการ พบว่า สินค้าสำคัญ 233 รายการมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร, ข้าวสารเจ้า, ต้นหอม, พริกสด เป็นต้น ในขณะที่สินค้าสำคัญ 98 รายการมีราคาลดลง ได้แก่ ผลไม้ และน้ำมันดีเซล ส่วนสินค้าอีก 91 รายการมีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศ ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ อยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ในปี 2562 ที่ 1-4% และสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนี้ สนค. ประเมินว่าผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดจะมีน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากในปีก่อนราคาผักผลไม้สดลดลงจากผลกระทบที่ฝนตกต่อเนื่องนาน ทำให้ฐานของปีก่อนต่ำ ซึ่งปีนี้แนวโน้มราคาผักผลไม้สดจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ด้านของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มยังเป็นขาลง หากไม่มีปัญหาสถานการณ์โลกที่ทำให้ราคาน้ำมันผันผวน ดังนั้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจึงไม่ส่งผลมากนักต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.62 ก่อนที่จะพิจารณาปรับค่ากลางของเงินเฟ้อทั้งปี 62 ใหม่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากค่ากลางเดิมที่ 1.2% แต่กรอบเงินเฟ้อในภาพรวมทั้งปีนี้ คาดว่าจะยังคงเดิมที่ 0.7-1.7%

"ขอรอประเมินตัวเลขเงินเฟ้อ 6 เดือนอีกครั้ง ก่อนที่จะปรับค่ากลางเงินเฟ้อทั้งปีนี้ใหม่จาก 1.2% ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ส่วนจะถึง 1.5% หรือไม่ คงต้องรอดู แต่กรอบเงินเฟ้อทั้งปี จะยังคงไว้ที่ 0.7-1.7%" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ