COVID-19ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยปีนี้ยังไม่ฟื้นหลังโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 13, 2020 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างกังวลกับสถานการณ์การผลิตจากการชะงักงันของการผลิตในจีนที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระนั้นก็ดี สถานการณ์ภายในจีนกำลังกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลบวกต่อภาคการผลิตทั่วโลก แต่ในทางกลับกันไวรัสที่เริ่มแพร่ระบาดนอกประเทศจีน จนกระทั่งล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับให้เป็น "การระบาดครั้งใหญ่ของโลก" ยิ่งทำให้สภาวะตลาดโลกต่อจากนี้ซบเซาจากการที่ต้องปิดเมือง ปิดประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยไล่เรียงไปจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จนถึงขณะนี้สหภาพยุโรป (EU) กำลังอยู่ในระยะวิกฤต และสหรัฐฯ อยู่ในระยะเริ่มต้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นสัญญาณลบอีกครั้งของธุรกิจไทยที่ต้องเตรียมรับมือกับการอ่อนไหวไม่เพียงตลาดในไทยที่ก็ว่าหินแล้ว แต่ตลาดทั่วโลกคงเผชิญความท้าทายยิ่งขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ผลกระทบที่เกิดต่อไทยก็เปลี่ยนไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทางการจีนสามารถจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสได้ และไม่มีการแพร่ระบาดในจีนรอบ 2 นอกจากนี้ การแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆ จะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 รวมทั้งการแพร่ระบาดในไทยไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

1.ธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศ ต้องเตรียมรับมือกับตลาดโลกที่ชะลอตัว ขึ้นอยู่กับว่ามีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นที่กำลังต่อสู้การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากแค่ไหน ขณะที่ตลาดจีนเริ่มฟื้นตัวนับเป็นความหวังครั้งสำคัญของการส่งออกไทย

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวตามจีนที่เริ่มกลับมา คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหลักและผลิตสินค้าขั้นกลางจำพวกเม็ดพลาสติก เส้นใยสิ่งทอ รวมถึงผลไม้ไทย ยกเว้นสินค้าที่ส่งเข้าสู่สายการผลิตจีนเพื่อทำการส่งออกต่อไปประเทศที่ 3 อย่างสหรัฐฯ และ EU อาจไม่มีสัญญาณบวกมากนัก เช่น ยางพาราและทองแดง เป็นต้น

กลุ่มที่ต้องเตรียมรับผลกระทบระลอกถัดมา คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งตลาดเหล่านี้กำลังเผชิญแพร่ระบาดในวงกว้างเช่นเดียวกับที่จีนได้เผชิญมาก่อน สินค้าไทยที่น่ากังวลอย่างมากอยู่ในกลุ่มไก่แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและสินค้าขั้นสุดท้าย

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดและอาจลากยาวกว่าทุกอย่างจะยุติ คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงจะต้องแบกรับภาระตลาดที่ซบเซายาวนาน ซึ่งในภาพรวมไทยพึ่งพาการส่งออกไปตลาดเหล่านี้สูงถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยสินค้าที่น่ากังวล ได้แก่ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง แผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางล้อ และที่นอน เป็นต้น

2.ธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในไทยก็คงต้องเตรียมรับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบไปตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาดในไทย แต่ในไตรมาส 2 อาจมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจนอกประเทศเข้ามากดดันบรรยากาศตลาดในประเทศอ่อนแรงยิ่งขึ้น

กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลัก เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร แม้จะยังพอทำตลาดได้ แต่ความซบเซาภายในประเทศจากการเฝ้าระวังไวรัส อาจยิ่งซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตรกรไทยในปีนี้

กลุ่มที่พึ่งพาวัตถุดิบ/นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สามารถทยอยกลับมาผลิตได้ตามการฟื้นตัวของจีน แต่ในระยะแรกคงไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดของวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางจากจีนที่ต้องใช้เวลาฟื้นกลับมา และกระจายสู่ภาคการผลิตในหลายประเทศ อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาที่ว่าแม้จะผลิตได้แต่ด้วยตลาดก็ไม่เอื้อก็ไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งธุรกิจที่นำสินค้าเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนให้พอประคองตัวให้ไปต่อได้จนกว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดในไทยจะยังไม่รุนแรง แต่การซบเซาของตลาดในไทยและตลาดต่างประเทศได้ส่งผ่านมายังธุรกิจไทยบ้างแล้ว และถ้าหากการลุกลามของโควิด-19 ทั่วโลกไม่สามารถยุติได้โดยเร็ว จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ยืดเยื้อออกไป กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญจากนี้ไป เพราะไม่ว่าจะส่งสินค้าที่ไหนก็ยากจะทำตลาดได้ โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะยังเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอื่นที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าคงต้องยอมรับสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และอดทนรอให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ยานยนต์ อุปกรณ์แต่งบ้าน และอุปกรณ์กีฬา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า บรรยากาศตลาดโลกระยะข้างหน้าที่การแพร่กระจายของโควิด-19 คงทยอยฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อในแต่ละประเทศที่เชื้อไวรัสแพร่ไปถึง ขณะที่จีนแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อน พร้อมทั้งมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาไวรัสจนประสบผลสำเร็จแล้วนั้น ในจังหวะเวลานี้ จีนจึงเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกู้วิกฤตไวรัสโลก โดยน่าจะได้เห็นการเร่งผลิตและส่งออกของจีนไปตลาดโลกในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย หลอดหรือท่อสายยางทางการแพทย์ อุปกรณ์แพทย์สนาม เตียงที่ใช้ในโรงพยาบาล เต็นท์พยาบาลชั่วคราว และชุดป้องกันไวรัส ดังนั้น จีนจึงนับเป็นตลาดแห่งความหวังของไทยในเวลานี้ โดยสินค้าดาวเด่นที่จะกลับมาช่วยกู้วิกฤตส่งออกของไทย จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในจีนเป็นหลักอยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าที่จำเป็นที่ใช้สำหรับเฝ้าระวังไวรัส ได้แก่ ผลไม้ไทย อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ รวมทั้งผลบวกทางอ้อมอยู่ในกลุ่มสินค้าขั้นกลางของไทยที่ช่วยสนับสนุนการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในจีน โดยเฉพาะยางพารา เส้นใยสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น แม้จีนจะเป็นตลาดแห่งความหวังหนึ่งเดียวของไทยในเวลานี้ และมีสัญญาณบวกว่าสินค้าสำคัญบางรายการของไทยสามารถฟื้นกลับมาได้หลังจากนี้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่ดึงให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปีกลับมาเร่งตัวได้ เนื่องจากบรรยากาศภายในประเทศที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดรอบ 2 บวกกับตลาดโลกที่อ่อนแรง ล้วนส่งผลให้กำลังซื้อในจีนคงไม่กระเตื้องขึ้นมากนักตลอดช่วงที่เหลือของปี 2563

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกของไทยไปจีนปี 2563 ไม่น่าจะต่างไปจากที่คาดการณ์เดิมว่าจะหดตัวราว 6-9% โดยหดตัวต่อเนื่องจาก 3.9% ในปี 2562 อีกทั้งการฟื้นตัวของกำลังซื้อในจีนหลังจากนี้ค งยังไม่สามารถผลักดันให้การส่งออกของไทยไปตลาดโลกในภาพรวมกระเตื้องขึ้น จากที่คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะหดที่ 5.6% ซึ่งความหวังเดียวที่จะช่วยพลิกฟื้นการส่งออกของไทยนั้น คงต้องรอให้ทั่วโลกปลอดจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้เสียก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ