(เพิ่มเติม) รฟท.คาดเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง 3 สัญญากว่า 2 หมื่นลบ.ใน มิ.ย.เชื่อได้ผู้รับเหมาไม่เกินสิ้นปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2020 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) รฟท.คาดเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง 3 สัญญากว่า 2 หมื่นลบ.ใน มิ.ย.เชื่อได้ผู้รับเหมาไม่เกินสิ้นปีนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า รฟท.จะเปิดประมูลโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 ช่วงพร้อมกันในเดือน มิ.ย.63 ซึ่งแบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลค่า 5,970 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่า 5,980 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 9,670 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาภายในสิ้นปี 63

สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีมูลค่าโครงการ 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 64 โดยคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 64 จำนวน 208,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 75 ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(เพิ่มเติม) รฟท.คาดเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง 3 สัญญากว่า 2 หมื่นลบ.ใน มิ.ย.เชื่อได้ผู้รับเหมาไม่เกินสิ้นปีนี้

โดยรถไฟฟ้าที่รองรับการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีจำนวน 130 ตู้ แบ่งเป็นขบวนละ 4 ตู้ 10 ขบวน และ ขบวนละ 6 ตู้ 15 ขบวน โดยปัจจุบันมีรถไฟฟ้ามาถึงไทยแล้ว 24 ตู้ 5 ขบวน เป็นขบวนละ 6 ตู้ 2 ขบวน และขบวนละ 4 ตู้ 3 ขบวน และคาดว่าจะส่งมอบรถไฟฟ้าได้ทันภายในสิ้นปีนี้ เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดไว้เดือนมิ.ย.63 ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยจะมีค่าโดยสาร 15-50 บาท/คน/เที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้ง บริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา โดยมาจากการโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พนักงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่

(เพิ่มเติม) รฟท.คาดเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง 3 สัญญากว่า 2 หมื่นลบ.ใน มิ.ย.เชื่อได้ผู้รับเหมาไม่เกินสิ้นปีนี้

ส่วนทางเลือกในการบริหารสถานี รฟท. มีแนวทางเลือกอยู่หลากหลายแนวทาง เช่น รฟท. ดำเนินการบริหารงานสถานีด้วยตนเองทั้งหมด จัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินการแทน เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน จัดจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร หรือให้สิทธิเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุด

นายวราวุฒิ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะเสนอคณะกรรมการ รฟท. โดยจะยืนยันว่า รฟท.จะจัดตั้งบริษัทลูกมาเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงเอง หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ทบทวนและแนะให้ว่าจ้างเอกชนรูปแบบ PPP นอกจากนี้ยังเสนอแนวทางที่จะหาแนวทางเอกชนเข้ามาบริหารสถานีกลางบางซื่อและอีก 13 สถานี และการก่อสร้างสถานีชั่วคราวที่สถานีกลางบางซื่อเพื่อรองรับรถไฟระยะไกล มูลค่าลงทุน 300 ล้านบาทเพราะสภาพรถไฟปัจจุบันมีการใช้ดีเซลและเป็นรถเก่าที่จะก่อมลภาวะได้หากเข้าจอดชั้น 2 ของสถานี รอให้ขบวนรถไฟใหม่เข้ามา ซึ่งโครงการซื้อรถไฟใหม่ 184 ตู้ที่รองรับทั้งดีเซลและไฟฟ้า วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีต่อไป

ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่มี 3 สัญญา แต่ละสัญญา มีความก้าวหน้า ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อและสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+000 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ตลอดจนถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานี และระบบระบายน้ำ ซึ่งมีความคืบหน้าคิดเป็น 98.62 %

สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย สถานี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 73.53%

นายวรวุฒิ กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 56 พร้อมเปิดใช้งานในปี 64

สถานีมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตร อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลาและ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ