ถอดรหัส "จีน-สหรัฐ" เทรดวอร์ยกสองในชั่วโมงโควิด-จลาจล ใครได้เปรียบ ??

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2020 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า แม้ว่าประเทศจีนและสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรกเมื่อปลายปี 62 แต่หากพิจารณาความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศมหาอำนาจจะพบว่าความขัดแย้งครั้งนี้เปรียบเหมือน "สงครามเย็น" ที่ยังไม่มีข้อยุติ เพราะเป็นการแย่งชิงอำนาจทางยุทธ์ศาสตร์ ซึ่งสงครามการค้าเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบที่ 2 ประเทศตอบโต้กันเท่านั้น

เมื่อย้อนรอยข้อตกลงการค้าในเฟสแรก พบว่าสหรัฐฯ ประกาศเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนล็อตแรก 25% วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และล็อตสองวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 7.5% (หลังบรรลุข้อตกลง) จากเดิมมีนโยบายเก็บ 15% และส่วนล็อตที่สามระงับจัดเก็บ (จากเดิมบังคับใช้ 15 ธ.ค.62) แต่เดิมมีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าอัตรา 15% กับประเทศจีนวงเงิน 1.5 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ตามข้อตกลงจีนต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นการแลกเปลี่ยนระยะเวลา 2 ปี (ปี 63-64) ใน 4 ภาคอุตสาหกรรม คือ เกษตร, พลังงาน, การผลิต และบริการ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังบังคับให้จีนแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ และต้องสัญญาว่าจะไม่ละเมิดสิทธิทางปัญญา เป็นต้น

ส่วนการตอบโต้ของจีนในรอบที่ผ่านมา ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯวงเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฯเท่านั้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าสงครามการค้าในเฟสแรก สหรัฐฯ ยังคงความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด

"สิ่งที่นำไปสู่ข้อตกลงการค้าเฟสแรก เพราะสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงขึ้น และนักลงทุนที่มีฐานการผลิตในจีนส่งสินค้ากลับเข้ามาในหสรัฐฯได้ยากลำบาก เป็นหนึ่งในเหตุผลให้ "ทรัมป์" กลัวว่าจะเสียคะแนนเสียงจึงต้องเลี่ยง Negative-Sum Game ขณะที่จีนยอมรับข้อตกลงด้วยการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 2 ปี สะท้อนว่าสหรัฐฯยังได้เปรียบในเกมสงครามการค้ารอบนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อตกลงสงครามการค้าในเฟสแรกจะชัดเจน แต่สงครามการค้ายังไม่จบ เพราะเงื่อนไขเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯยังคงอยู่เช่นเดิม"นายสมชาย กล่าว

สำหรับสงครามการค้าในระลอกสอง ต้องติดตามต่อไปว่าจะยกระดับมากขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากข้อตกลงการค้าในเฟสแรกที่จีนทำไว้กับสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณความขัดแย้งอีกระลอก ยกตัวอย่างกรณีที่จีนต้องนำเข้าสินค้าวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ฯในช่วง 2 ปี แบ่งเป็นปี 63 ต้องนำเข้าวงเงิน 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งแบ่งเป็นสินค้าเกษตร 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เมื่อย้อนไปเมื่อต้นปีถึงปัจจุบัน กลับพบว่าจีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯเพียง 3 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนเริ่มแสดงท่าทีแข็งข้อ เพราะหันไปซื้อสินค้าจากบราซิลแทนที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ

นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจีนได้ส่งสัญญาณท้าทายสหรัฐฯ ด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีจุดประสงค์เข้าไปจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ขณะที่ด้านนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กลับสนับสนุนการประท้วงของชาวฮ่องกง เพราะต้องการให้เป็น "หอกข้างแคร่" เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังค่อนข้างลำบาก หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

นายสมชาย วิเคราะห์ต่อว่า แม้ว่าความขัดแย้งอาจนำไปสู่สงครามการค้าระลอกสอง แต่เชื่อว่าด้วยพื้นฐานของสหรัฐฯยังคงความได้เปรียบจีนหลายมิติ ท่ามกลางปัญหาเหตุประท้วงภายในสหรัฐฯ กรณีเหยียดสีผิวกำลังลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลก

แต่ความได้เปรียบหลักๆ คือ สหรัฐยังคงครองอันดับหนึ่งของประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีดีที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็มีงบประมาณทางทหารมากที่สุด หรืออาจเทียบเท่ากับงบประมาณรวมกันทั้งจีนและรัสเซีย ส่งผลให้สหรัฐฯยังคงความได้เปรียบเทคโนโลยีทางทหารที่ดีที่สุดในโลก ส่วนจีนแม้ว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้รวดเร็ว แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากการละเมิดสิทธิทางปัญญา

พร้อมทั้ง ประเมินว่าแม้ว่าเหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯ จะขยายเป็นวงกว้าง แต่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก่อนจะค่อยดีขึ้นตามลำดับ ยกเว้นแต่จะทำนายผิดพลาดกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งคิดว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ดังนั้น จึงมีน้ำหนักน้อยไม่ได้บั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่ตัวแปรหลัก คือ สหรัฐฯ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ดีเพียงใดและต้องไม่ให้เกิดการระบาดรอบที่สอง รวมถึงการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินจำนวนมหาศาลว่าจะมีประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากน้อยแค่ไหน

ส่วนเศรษฐกิจของจีน แม้ว่าจะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าสหรัฐฯ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลายลงเป็นประเทศแรกๆ โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักทั่วโลกคาดการณ์ว่า ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจีนอาจจะพลิกกลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจถูกกดดันจากประเด็นความขัดแย้งของประเทศฝั่งตะวันตก เป็นตัวแปรที่ทำให้จีนไม่สามารถพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และยิ่งหากเศรษฐกิจจีนไม่ได้กลับมาเป็นบวก 6-7% ต่อปีในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ก็เชื่อว่าปัญหาที่จะตามมา คือจำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่สร้างความน่ากังวลอย่างแน่นอน

https://youtu.be/yXM8UFpoccg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ