ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค.ดีขึ้นจากแรงหนุนภาคเกษตร-โควิดคลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 30, 2020 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ก.ค.ดีขึ้นจากแรงหนุนภาคเกษตร-โควิดคลี่คลาย

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือน ก.ค.63 พบว่า ดัชนี RSI เดือน ก.ค.63 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางที่มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ดัชนีแนวโน้มรายภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันตก และภาคบริการของภาคตะวันออก ยังชะลอตัว

ทั้งนี้ ดัชนี RSI เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 60.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากคาดหวังการช่วยเหลือของภาครัฐจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังรวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คาดว่าเมื่อคลี่คลายแล้วจะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากทั้งภายในและต่างประเทศ และภาคบริการจะขยายตัวจากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของจังหวัด ทำให้ธุรกิจภาคบริการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

-ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 59.9 สะท้อนถึงการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากแนวโน้มภาคเกษตรในระยะ 6 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต อาทิ ลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และข้าวเหนียว เป็นต้น อีกทั้งยังมีมาตรการรวบรวมและคัดกรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศ อาทิ งาน "เทศกาลลำไย OTOP สินค้าลดค่าครองชีพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ของจังหวัดลำพูน โครงการหอการค้าแฟร์ลำพูน ครั้งที่ 10 ประจำปี 2563 และมาตรการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

-ภาคตะวันตก ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 54.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่กลับมาขยายตัว โดยมีภาคการเกษตรและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก จากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ และปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย ทำให้ภาครัฐมีการผ่อนปรนมาตรการการควบคุมสถานประกอบการบางประเภท

-ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจอยู่ที่ 54.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว โดยมีภาคเกษตรและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้การขนส่งผลผลิตทำได้ง่ายขึ้น และการเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ตลอดจนนักท่องเที่ยวเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

  • ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจอยู่ที่ 52.6 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศคลี่คลายลงมาก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงคาดว่าปริมาณความต้องการผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และยังมีฝนตกตามฤดูกาลคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ
  • ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 51.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมตามแนวโน้มความต้องการผลผลิตยางพาราจากผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์การใช้ถุงมือยางแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศจากภาครัฐ การนำยางพารามาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางท้องถนน อาทิ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเช่นกันตามความต้องการน้ำมัน B10 และ B20 จากการคมนาคมขนส่งที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และโครงการจัดซื้อปาล์มน้ำมันผลิตพลังงาน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 48.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคบริการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ