(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้สวนยาง-นาข้าวรวมกว่า 6 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2020 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ครม.ได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพาราวงเงินรวมทั้งสิ้น 61,900 ล้านบาทในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 51,858 ล้านบาท และประกันรายได้ชาวสวนยาง 10,042 ล้านบาท

แม้ขณะนี้ราคายางเริ่มดีขึ้น แต่ราคายังไม่มั่นคงมากนัก เพราะประเทศผู้ปลูกยางได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ภัยพิบัติ ส่งผลต่อราคายาง แต่เกษตรต้องระวังการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จำเป็นต้องมีการปลูกพืชชนิดอื่นด้วย หรือการเลี้ยงสัตว์ในสวนยาง เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ระบว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรทุกคน สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ ต้องช่วยเหลือให้ธุรกิจที่ยังมีโอกาส และไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการโดยตรง ให้สามารถให้เดินต่อได้ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพาราวงเงินรวมทั้งสิ้น 61,900.82 ล้านบาท ได้แก่ สินค้าข้าว วงเงินรวม 51,858 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ปี 2563/64 มาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

โดยโครงการประกันรายได้ปี 2 กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.63-พ.ค.64

ส่วนมาตรการคู่ขนานควบคู่กับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.63-29 ก.พ.64) โดยนอกจากเกษตรกรจะได้รับสินเชื่อและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว เกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีสหกรณ์จะได้รับตันละ 1,000 บาท และสมาชิกจะได้รับ ตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64) โดยสหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%

และ (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.63-31 มี.ค.64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมากเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพช่วยให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการชดเชยตามโครงการประกันรายได้

โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จะเริ่มเดือน พ.ย.63 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยในช่วงแรกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณของรัฐบาล จะจ่ายเงินให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ในรอบแรกเบื้องต้น อัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ก่อน และในช่วงต่อไปจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ ครม.เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป

ด้านเกษตรกรชาวสวนยาง ในโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางปี 2 ได้รับการอนุมัติเช่นกัน โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ยางแผ่นดิบ กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ให้คนกรีด 40% และเจ้าของสวน 60% วงเงิน 10,042 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือน ต.ค.63-มี.ค.64 แต่ระหว่างนี้ยางพาราราคาดีดตัวสูงขึ้นทะลุรายได้ที่ประกันไว้สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก แต่โครงการประกันรายได้เกษตรกรก็อยากเดินหน้าเพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าราคาตกลงมาเกษตรกรก็จะอยู่รอดด้วยการประกันรายได้ที่ได้รับการอนุมัตินี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ