ดัชนีเศรษฐกิจครัวเรือน ต.ค.ดีขึ้นเดือนที่ 4 จากรายได้-จ้างงานภาคเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2020 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 39.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ก.ย.ที่ 38.1 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการจ้างงาน และรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนในต่างจังหวัดที่ส่วนใหญ่ คือ แรงงานภาคเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรให้ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 9.5% YoY ได้รับปัจจัยหนุนจากราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการนำมาผลิตยางสังเคราะห์ และถุงมือยาง

"ดัชนี KR-ECI ในเดือนต.ค.63 และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยใน 3 เดือนข้างหน้าโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากมุมมองต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ สอดคล้องไปกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ทั้งข้าว ผัก และผลไม้ โดยเฉพาะราคายางพาราในช่วงเดือนต.ค.ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับมีมุมมองเกี่ยวกับภาวะการจ้างงาน และรายได้ไม่ได้ดีขึ้นสอดคล้องไปกับผลการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าสถานการณ์การเลิกจ้างยังคงเร่งตัวขึ้นจากในเดือนมี.ค.63 อีกทั้งองค์กรส่วนใหญ่ยังคงชะลอการรับพนักงานใหม่ และมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ในบริษัทเอกชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมุมมองของครัวเรือนในเรื่องรายได้และการจ้างงานที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากแรงงานในภาคการผลิตและบริการที่ถูกเลิกจ้างได้ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา และกลับเข้าสู่แรงงานภาคเกษตร

ทั้งนี้ ในภาพรวมของสถานการณ์การจ้างงานของไทยยังคงเปราะบาง โดยภาคธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอ มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ และมีแนวโน้มที่จะเริ่มเปลี่ยนการปรับลดการจ้างงานชั่วคราวในช่วงก่อนหน้านี้เป็นการปรับลดการจ้างงานถาวร

ขณะที่มาตรการ Co-Payment ของภาครัฐที่สนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ที่รวมอยู่ในโครงการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง โดยภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนค่าจ้าง 50% จำนวน 260,000 ตำแหน่ง ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนต.ค.63 -ก.ย.64 นั้น ยังคงเหลือตำแหน่งว่างพร้อมรองรับอีกจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุด ณ 4 พ.ย.63 ระบุว่าปัจจุบันมีตำแหน่งประกาศรับสมัครจำนวน 82,767 อัตรา โดยมีนักศึกษาจบใหม่เข้าร่วมโครงการ 53,650 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกเพียง 2,156 คน

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าใกล้สู่เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี สะท้อนจากผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยใน 3 เดือนข้างหน้าในส่วนของค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเพิ่มเงินให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ และโครงการคนละครึ่งจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐจะเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็จะเข้ามาช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 4/2563 กลับมาคึกคักมากขึ้น และจะช่วยประคองภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2563

"ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายอีกหลากหลายด้าน ทั้งในเรื่องของสถานการณ์การจ้างงานที่ยังเปราะบาง ภาคธุรกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ