เครดิต สวิส มองตลาดหุ้นทั่วโลกยังแกร่งแม้เผชิญโควิดแนะโฟกัสเอเชีย-ตลาดเกิดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 17, 2021 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันวิจัยเครดิต สวิส ร่วมกับมหาวิทยาลัย London Business School ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำ รายงานมูลค่าผลตอบแทนการลงทุนระดับโลก (Credit Suisse Global Investment Returns Yearbook) ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น ตราสารหนี้ พันธบัตร อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินใน 32 ตลาดสำคัญ (รวมถึงประเทศไทยและตลาดใหม่อีก 8 แห่งในปีนี้) รวมทั้งดัชนีชี้วัดของ 23 ประเทศจากทั้งหมด 90 ประเทศทั่วโลกที่มีข้อมูลครบ 121 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2443

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรงและฉับพลันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หากไม่นับเหตุการณ์ตลาดหุ้นถล่มเมื่อเดือนตุลาคม 2530 โดยตลาดหุ้นร่วงลงถึง 35% ในเวลาเพียง 23 วันของการทำธุรกรรมซื้อขาย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดอื่น ๆ ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่ และในปีนี้คาดว่าตลาดหุ้นต่าง ๆ จะกลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้นโดยได้รับปัจจัยหนุนจากข่าวความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ หุ้นยังคงถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับตราสารหนี้และพันธบัตร โดยตลอดระยะเวลา 121 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนตามจริงในแต่ละปีสูงถึง 5.3% ในขณะที่ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทน 2.1% และพันธบัตรให้ผลตอบแทน 0.8% ต่อปี โดยนับตั้งแต่ปี 2443 หุ้นยังคงให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตราสารหนี้และพันธบัตรในทุกตลาด โดยในแต่ละปี ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรถึง 4.4% และสูงกว่าตราสารหนี้ถึง 3.1% ต่อปี

สหรัฐอเมริกายังคงครองตำแหน่งตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยอัตราการทำกำไรมหาศาล ปัจจุบันตลาดสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 56% ของการลงทุนทั่วโลกโดยวัดจากเกณฑ์สภาพคล่องของมูลค่าตลาด ขณะที่ญี่ปุ่นรั้งอันดับสองอยู่ที่ 7.4% แซงหน้าจีนที่ครองอันดับสามอยู่ที่ 5.1% และสหราชอาณาจักรครองอันดับสี่อยู่ที่ 4.1%

ในขณะที่ทุกตลาดเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดเกิดใหม่หลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน (หรือจีนไทเป) โดยมูลค่ารวมของตลาดเหล่านี้คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่ารวมทั้งหมดของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นักลงทุนได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนที่สูงมากในช่วงทศวรรษที่ 2523 และ 2533

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ผลตอบแทนตามจริงของหุ้นกลับมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2552 รวมถึงปัจจุบันสามารถฝ่าฟันวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตลาดทั้ง 3 แห่ง (จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ซึ่งอยู่ในช่วงขาลงมานานสองทศวรรษ ได้ย้ำเตือนให้เห็นถึงการลงทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

ในช่วงทศวรรษถัดมาหลังการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม นักลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเนื่องจากตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการเงินทั่วโลก เพราะการลงทุนสามารถให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่งได้นานกว่าทศวรรษ และหลังจากตลาดหุ้นร่วงเพราะสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก ตลาดเหล่านี้ก็ยังฟื้นตัวได้เร็วกว่าเดิม

จุดสำคัญของตลาดเอเชียแปซิฟิก โดย

จีน : กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า ปัจจุบันนี้จีนมี GDP ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเมินจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินด้วยความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) แม้ว่าวัดตามเกณฑ์อัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน สหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม และปัจจุบัน ภาคบริการลูกค้าของจีนคิดเป็น 28% ของดัชนี FTSE World China ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคิดเป็น 22% และภาคการเงินที่ 19%

ญี่ปุ่น : ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แม้จะประสบกับภาวะซบเซาและภาวะเงินฝืดมายาวนาน โดยญี่ปุ่นรั้งตำแหน่งตลาดหุ้นใหญ่อันดับสองของโลกและอันดับสามของตลาดตราสารหนี้ระดับโลก อีกทั้งเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและหุ่นยนต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างตลาดหุ้นที่มีความโดดเด่น ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นคิดเป็น 25% ของดัชนี FTSE World Japan ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 23%

สิงคโปร์ : ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ถือเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 23 ของโลก โดยมีภาคการเงินคิดเป็น 71% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของดัชนี FSTE Singapore

ไทย : ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน โดยวัดจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 24 ของโลก โดยภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมของไทยคิดเป็น 39% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของดัชนี FTSE Thailand

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่มีมูลค่าไม่ถึง 3% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโลกและคิดเป็น 24% ของ GDP โลก แต่ในปัจจุบัน ตลาดเกิดใหม่มีมูลค่าอยู่ที่ 14% ของการลงทุนหุ้นทั่วโลกโดยวัดจากเกณฑ์สภาพคล่องของมูลค่าตลาด และคิดเป็น 43% ของ GDP โลก

จีนถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าตามดัชนีของตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากเพียง 3% ในช่วงปี 2543 เป็น 39% ในปัจจุบัน คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดประเทศจีนจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการรวมหุ้นเกรด A เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตสูงมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยให้ผลตอบแทนตลาดหุ้นรายปีเกือบจะเท่ากับหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

นักลงทุนไม่ควรเลี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่เพียงเพราะกังวลปัจจัยความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่แต่ละตลาดน้อยลงอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ความแตกต่างระหว่างความเสี่ยงโดยเฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่กับตลาดที่พัฒนาแล้วก็ลดน้อยลงเช่นกัน โดยนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่

ด้านมร.ริชาร์ด เคอร์สลีย์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ แผนกวิจัยหลักทรัพย์ เครดิต สวิส กล่าวว่า มุมมองการลงทุนระยะยาว ยิ่งมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ หลังตลาดการเงินทั่วโลกได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ประเมินจากทั้งในแง่เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์

ตลาดเกิดใหม่จะมีสัดส่วนมูลค่าตลาดทุนโลกเพียงเล็กน้อย แต่ปัจจุบันตลาดเกิดใหม่มีมูลค่าสูงถึงประมาณอันดับที่หกของการลงทุนหุ้นทั่วโลกโดยวัดจากเกณฑ์สภาพคล่องของมูลค่าตลาด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป โดยตลาดเกิดใหม่มีบทบาทสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนทั่วโลก

ส่วนศาสตราจารย์พอล มาร์ช จากมหาวิทยาลัย London Business School กล่าวเสริมว่า เมื่อตลาดใกล้ทำราคาสูงสุดใหม่ ก็เป็นเวลาที่ต้องคาดการณ์ถึงอนาคตข้างหน้า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ได้รับอานิสงส์จากผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตราสารหนี้ และพอร์ตการลงทุนแบบผสมผสานระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ ส่วนรุ่นลูกหลานหรือคนกลุ่ม Gen Z จะเผชิญกับอนาคตที่ผลตอบแทนการลงทุนลดน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ