ศุภชัย แนะเสริมแกร่ง WTO ช่วยสมาชิกฝ่าวิกฤติโควิด,หนุนเปิดเสรีอาหาร-เกษตรมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 23, 2021 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "จับตาการปฏิรูป WTO ยุค New Normal" ต้อนรับการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference: MC12) โดยกล่าวถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และบทบาทของ WTO ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบันว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของ 2 ประเทศที่แข่งขันกัน และปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ทำให้การปฏิรูปองค์การการค้าโลก WTO เป็นไปได้ยาก เพราะแม้จะมีการเจรจาในกรอบปกติมา 7 รอบแล้ว แต่ยังไม่มีการปฏิรูปใด ๆเ กิดขึ้น

ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง WTO ด้วยการสร้างบทบาทให้มีความโดดเด่นขึ้นมา ประกอบด้วย 1.การทำให้สำนักงาน WTO มีความเข้มแข็ง และช่วยหาทางออกให้กับสมาชิกของ WTO และสร้างผลงานให้จับต้องได้ 2.การให้บทบาทกับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 12 ( MC12 ) มองว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องหาแนวทางทำให้บทบาทด้านการค้าและการพัฒนามีมากขึ้น ทั้งการพัฒนาด้านการลงทุน ด้านสังคม ต้องมีแบบแผนชัดเจน

3.การทำงานร่วมกันระหว่าง WTO และองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะกับองค์การสหประชาติ (UN) ควรร่วมกันนำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ เช่น ข้อตกลงที่ช่วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือควรให้ WTO ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือข้อตกลงที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อโลก และประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

นายศุภชัย มองว่า ความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ควรมีการดำเนินการขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ควรให้ WTO ทำหน้าที่ในการฟ้องศาล แต่ต้องการให้มีการเจรจาด้านการทูต เพื่อนำมาสู่การยินยอมซึ่งกันและกัน สามารถตกลงกันได้ และอยากเห็นความพยายามให้มีข้อตกลงตรงกลางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศยากจนที่สุด พร้อมมองว่าควรสนับสนุนด้านการเงินหรือมีโครงการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้

นอกจากนี้ นายศุภชัย มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดจบลงแล้ว สิ่งที่ WTO ควรดำเนินการคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น ทั้งด้านสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร เพราะหลังจากนี้โลกจะขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก และเหลือเพียงไม่มีประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค และเห็นว่าไม่ควรยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นแฟลตฟอร์มดิจิทัลครองอำนาจเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ