อนุสรณ์ ชี้ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียกระทบภาคการเงินไทยในวงจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 20, 2022 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า แม้ธนาคารกลางรัสเซีย และกระทรวงการคลังรัสเซีย จะสามารถจัดการชำระหนี้จำนวน 117 ล้านดอลลาร์ หรือ 3,800 ล้านบาท แต่ธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารยุโรปและสหรัฐอเมริกา ลงทุนในพันธบัตรรัสเซียกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3.9 ล้านล้านบาท มีหนี้ก้อนใหญ่สกุลเงินต่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดปัญหาชำระหนี้เฉพาะหน้าได้ในต้นเดือนเมษายน 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 66,000 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยที่ต้องชำระประมาณ 448 ล้านดอลลาร์ภายในหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งแม้มูลค่าไม่มาก แต่รัสเซียถูกอายัดเงินสกุลต่างประเทศไว้ ขณะที่บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง S&P ได้ลดอันดับเครดิตพันธบัตรรัสเซียจาก CCC เป็น CC ซึ่งหมายถึง สถานะความสามารถในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงมากนั่นเอง ถือเป็นพันธบัตรขยะหรือพันธบัตรสำหรับเก็งกำไร

"รัสเซียมีพันธบัตรที่ต้องชำระหนี้คืนอีกจำนวนมากในหนึ่งปีข้างหน้า เมื่อการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ในระบบการชำระเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นหลังเดือนพฤษภาคมอย่างเต็มรูป แบบย่อมทำให้ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก หากนักลงทุนถือตราสารรัสเซียสกุลเงินต่างประเทศ แต่ได้รับชำระเงินเป็นเงินสกุลเงินรูเบิลที่มูลค่าดิ่งลง ย่อมเท่ากับการผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกัน" นายอนุสรณ์กล่าว

ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้จากรัสเซีย จะสร้างผลกระทบต่อสถาบันการเงินในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนของตลาดการเงินโลกรอบใหม่ โดยที่ระดับความรุนแรงไม่มากเท่าวิกฤติหนี้สินยูโรโซน และวิกฤติหนี้ซับไพร์ม ปัญหาจะสามารถยุติได้อย่างรวดเร็วหากสงครามยุติ เนื่องจากรัสเซียมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 6.4 แสนล้านดอลลาร์ แต่ถูกอายัดทรัพย์สินในสกุลเงินตราประเทศไว้จำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์ ทางการรัสเซียได้กล่าวว่า หากรัสเซียไม่สามารถชำหนี้ได้ หรือผิดนัดชำระหนี้ถือว่าเป็น Artificial Default หรือการผิดนัดชำระหนี้แบบเทียม

ต้องติดตามต่อไปว่าพันธมิตรชาติตะวันตก จะใช้วิธีอะไรกดดันจีนเพื่อจำกัดรัสเซียไม่ให้เข้าถึงเงินสำรองที่เป็นเงินหยวน ข้อมูลล่าสุดพบว่า สถานะของทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย มีสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 16.4% ของเงินสำรองทั้งหมด ส่วนเงินยูโร คิดเป็น 32.2% และเงินหยวน คิดเป็นสัดส่วน 13.1%

"การผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียในเดือนเมษายน หากเกิดขึ้นยังคงมีผลกระทบต่อภาคการเงินไทยในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินและนักลงทุนไทยไม่ได้มีธุรกรรมกับรัสเซียมากนัก อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ในเดือนเมษายน หากเกิดขึ้นจะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนต่อตลาดการเงินโลกไม่น้อย และอาจทำให้ฐานะของสถาบันการเงินขนาดใหญ่บางแห่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลงได้" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้สงครามรัสเซียยูเครนยุติลงแล้ว เศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนจะถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี และ บรรษัทข้ามชาติตะวันตกได้ทยอยถอนการลงทุนออกจำนวนมาก และเงินลงทุนเหล่านี้ จำนวนหนึ่งจะไหลมาลงทุนในอาเซียนและประเทศไทย สงครามยืดเยื้อในยูเครน ฉากทัศน์นี้เป็นไปได้มากที่สุด เหมือนสถานการณ์สู้รบในซีเรียและอัฟกานิสถาน กองทัพรัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่บางส่วนของยูเครนได้ รัฐบาลยูเครนยังคงบริหารประเทศได้ในบางพื้นที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจะรุนแรงและยืดเยื้อรวมทั้งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัด แต่สงครามยืดเยื้อในยูเครนจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามตัวแทนระหว่างระบอบอำนาจนิยม กับระบอบเสรีประชาธิปไตย กลายเป็นสงครามเย็นรอบใหม่

ระบบการเงิน ระบบการชำระเงิน ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสื่อสังคมออนไลน์ และแพลตฟอร์มต่างๆ ระบบโลจิสติกส์ทางเรือและอากาศปั่นป่วน กระทบการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศ ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ใช่ปัญหาราคาพลังงานและน้ำมันแพงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากค่าระวางเรือสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่าเรือรัสเซียปิดต้องย้ายการจัดส่งสินค้าผ่านท่าเรือในยุโรปแทน เส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือหลายเส้นทางถูกปิดหรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ขณะนี้การขนส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหา เนื่องจากการแออัดของท่าเรือขนส่งสินค้า ประกอบกับประเทศจีนมีการล็อกดาวน์จากปัญหาโควิด ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงจากสงครามรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ และโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิต สหภาพยุโรปอาจประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน ต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภท รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก มีความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน ภาคการผลิตบางส่วนขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง ขณะที่บางกิจการยังมีเลิกจ้างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาเหล่านี้ คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกไทย ลดลงไม่ต่ำกว่า 30-50% จากเป้าหมายเดิมที่มองว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 8-9% โดยมูลค่าส่งออกน่าจะปรับลดลงมาจากระดับ 2.94 - 3 แสนล้านดอลลาร์ ที่เป็นเป้าหมายเดิม มาเหลืออยู่ที่ 2.82 - 2.86 แสนล้านดอลลาร์ (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 32.50 บาทต่อดอลลาร์)

"คาดว่ามูลค่าส่งออกไตรมาส 2 ของไทย จะลดลงไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ และทั้งปี มูลค่าการส่งออกน่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 10,855 - 15,197 ล้านดอลลาร์ การขนส่งสินค้าทางอากาศ และการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อไปยังรัสเซียและยูเครนไม่สามารถทำได้เป็นปกติ ทำให้กระทบต่อการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก" นายอนุสรณ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ