เลขาฯ สมช. เร่งจัดทำแผนเร่งด่วนรับมือวิกฤตด้านพลังงาน-อาหาร คาดได้ข้อสรุป 1 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2022 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายให้เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารหลังสถานการณ์โควิด-19 และเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจโลกว่า ในระยะเร่งด่วน เราจะประเมินภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอยว่ามีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ซึ่งถือเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือผู้บริโภคกับผู้ผลิต ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย ระหว่างนี้กำลังพูดคุยเพื่อจัดระบบติดตามประเมินผล และทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาวันที่ 1 ก.ค.65 หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 และความรุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจทั่วโลก ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง พลังงานราคาสูง ซึ่งหน่วยงานทางเศษฐกิจที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีความเป็นห่วงและให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในอนาคต

ทั้งนี้การประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นถือเป็นหน้าที่ของ สมช.อยู่แล้ว ไม่ว่าสงครามรัสเซียกับยูเครนจะยุติเมื่อใด สั้นหรือยืดเยื้อ แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องมาคิดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมีอะไรบ้าง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศษฐกิจเข้ามาหารือแล้ว และจะนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อประเมินสรุปเป็นแผนสำหรับอนาคตทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว

"สมช.มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ผมทำงานภายใต้ สมช. ผมเป็นเลขาฯสมช. และเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเกิดประเด็นอะไรที่กระทบความมั่นคง คณะกรรมการชุดนี้สามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการได้ อนาคตอาจมีการตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามและทำข้อเสนอให้รัฐบาล" พล.อ.สุพจน์ กล่าว

เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของ สมช.จะไม่ได้อยู่เหนือกระทรวงพลังงาน แต่เป็นการทำงานคู่ขนาน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำข้อมูลให้รัฐบาล ส่วน สมช.จะเสนอกฎหมายอะไรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระทรวงพลังงานขอความร่วมมือเอกชนไม่ได้ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เสนอเป็นแนวทางได้ แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มีและอำนาจตามกระทรวงที่รับผิดชอบ

ส่วนจะเสนอใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงจะใช้เมื่อมีความจำเป็น ซึ่งน่าจะอยู่ในแผน

เลขาธิการ สมช. ยืนยันว่า การดำเนินการนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งเมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.65) ก็ได้หารือกับสภาพัฒน์ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำข้อมูลมาประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ