เวิลด์แบงก์ ห่วงเงินเฟ้อสูงกระทบผู้รายได้น้อย แนะปรับนโยบายมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2022 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เสนอรายงานหัวข้อ Recent Economic Developments and Outlook ในงานสัมมนา THAILAND ECONOMIC MONITOR Building Back Better, Greener and Resilient-The Circular Economy ว่า แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/65 แต่การเติบโตล่าช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่า

นอกจากนี้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/65 เป็นผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ระดับราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากที่สุดในอาเซียน คิดเป็น 5% ของจีดีพี แม้ว่าเพื่อนบ้านจะมีการนำเข้าน้ำมัน แต่ก็มีการส่งออกพลังงานในรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น สปป.ลาวส่งออกไฟฟ้า เมียนมาส่งออกก๊าซธรรมชาติ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเหมือนไทย โดยราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบด้านลบเรื่องรายได้ และกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ

"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุดในอาเซียน ผ่านช่องทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงยังมีผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนจากการปิดประเทศ ผ่านช่องทางการค้าและการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลไทยมีเครื่องมือทางการเงินการคลังที่เชื่อว่ายังมีความสามารถพอในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะมีการเปิดประเทศ และเริ่มใช้ชีวิตปกติ การติดเชื้อเริ่มลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสังเกตว่ายังมีความเสี่ยงที่โควิด-19 อาจจะกระจายระลอกใหญ่อีกครั้ง และมีความเสี่ยงเรื่องการเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวที่โครงสร้างเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 12-15% ของจีดีพี

ขณะเดียวกันสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในระดับปัจจุบันก็เป็นปัจจัยกดดันสำคัญและน่าเป็นห่วง แม้การส่งผ่านของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารปรับเพิ่มขึ้น ยังไม่ได้กระจายไปยังสินค้าอื่นๆ ก็ตาม และภาพรวมยังเห็นว่าค่ากลางของอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็เริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบกับกลุ่มคนรายได้น้อยมากที่สุด โดยหากราคาพลังงานและอาหารปรับขึ้น 10% จะเพิ่มความยากจนประมาณ 1.5% หรือคิดเป็น 9 แสนคน จากช่วงโควิด-19 มีระดับความยากจนอยู่ที่ประมาณ 6% ก่อนจะเริ่มปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

"ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นแก้ปัญหาด้วยการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือ ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังสร้างภาระทางการคลัง สร้างความซับซ้อนต่อนโยบายการเงิน และหากดูข้อมูลในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้า ส่วนใหญ่ใช้ในกลุ่มอาหารและปิโตรเลียม ขณะที่ไทยใช้มาตรการดังกล่าวประมาณ 30% ถือว่าเยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่าในภาวะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และยังมีความท้าทาย ไทยควรเร่งลงทุนด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นการกระจายวัคซีนยังเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมให้มีการเปิดประเทศ ขณะที่นโยบายการคลังต้องปรับโดยเน้นใช้มาตรการคุ้มครองทางสังคมแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยนอกระบบ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เป็นหลัก หากดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น จากปัจจัยที่มีน้อยลง รวมถึงเร่งลงทุนโครงการภาครัฐ เช่น รถไฟ ถนน ที่อยู่ในแผนฯ ซึ่งคิดเป็น 6-8% ของจีดีพี และเร่งเพิ่มรายได้ทางการคลัง เพื่อรักษาฐานะการคลังให้ยั่งยืนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ