ม.หอการค้าฯ หวังรายได้ท่องเที่ยวช่วยดัน GDP ลดโอกาสเสี่ยงเข้าสู่ภาวะศก.ถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 15, 2022 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.หอการค้าฯ หวังรายได้ท่องเที่ยวช่วยดัน GDP ลดโอกาสเสี่ยงเข้าสู่ภาวะศก.ถดถอย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) นิยามคือการที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสต่อกัน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ติดลบไปแล้ว 2 ไตรมาส และมีแนวโน้มขยายตัวติดลบต่อเนื่อง และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงและเร็ว ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 1% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าในขณะที่ไทยยังนำเข้าน้ำมันในราคาแพง และยังไม่สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้ อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้า ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อ GDP และทำให้การส่งออกของไทยไม่โดดเด่น

"ประเทศอื่นๆ ยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังคงมาตรการ Zero Covid ทั้งนี้ ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกถูกประคองโดยเอเชีย สหรัฐฯ ยังไม่ยุบมาก ยุโรปยังไม่ซึมมาก ทำให้ภาพของเศรษฐกิจยังไม่มีปัจจัยลบรุนแรง แต่เริ่มชะลอลงบ้าง ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับประเทศไทย หากสามารถผลักดันนักท่องเที่ยวต่างชาติของปีนี้ให้ได้ 10 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านคน ก็จะทำให้ GDP ของไทยยังคงรักษาระดับที่ 3.1% หรือในกรอบ 2.7-3.5% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคตยังมีความเสี่ยงจากการขยายตัวที่ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร เริ่มเห็นภาพของการชะลอตัวลง โดยปัญหาหลักมาจากราคาน้ำมันแพง ซึ่งส่งผลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

"เศรษฐกิจโลกยังไม่เสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีสัญญาณที่สหรัฐฯ แต่ประเทศอื่นยังปกติ ยังเห็นปัจจัยไม่ชัด แต่ก็มีความเสี่ยง มีปัจจัยลบชัดเจน ดังนั้น แนวโน้มมีโอกาสลดลงมากกว่า แต่คงตกไม่มาก ของไทยส่งออกแกว่งตัวในกรอบ 5-6% ไม่โดดเด่น แต่ถูกชดเชยด้วยการนำเข้าที่มากขึ้น การท่องเที่ยว พืชผลทางการเกษตร และมาตรการของรัฐ และการขึ้นค่าแรงมีผลพวงเชิงบวกในระยะสั้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ในส่วนของ GDP ปี 66 ของไทย มองในกรอบ 3.0-3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และยังไม่เห็นภาพว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรบ้าง ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จะทบทวนประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้อีกครั้ง รวมถึงจะประเมินแนวโน้ม GDP ปี 66 ด้วย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในส่วนของผลกระทบส่วนใหญ่ของภาคธุรกิจไทย มาจากปัญหาต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและราคาสินค้าแพง ซึ่งการที่รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาพลังงานเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เชื่อว่าในไตรมาส 4/65 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเข้มแข็ง ขณะที่รัฐบาลไทยส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบช้าๆ และไม่ขึ้นสูง โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เหลือของปีนี้ ครั้งละ 0.25%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย เติบโตแบบ K-Shape คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจส่งออก หรือมีสายป่านยาวสามารถฟื้นตัวได้ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากกังวลเรื่อง NPL ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ส่งผลต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจมองว่าจะไม่มีการลดคนงาน ดังนั้น ไม่น่าจะมีผลต่อตลาดแรงงาน หรือเกิดการว่างงานมากขึ้น แต่การจ้างงานจะไม่เพิ่มรวดเร็ว ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ใช่น้ำท่วมขังยาวนาน

"ภาคธุรกิจมองว่าประเด็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากนี้ จะชะลอลงจากก่อนหน้านี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้าน นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจในประเด็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 6-12 ก.ย. 65 โดยเมื่อสอบถามว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อธุรกิจหรือไม่ พบว่า 48.8% ระบุว่ามีผลน้อย กำไรได้รับผลกระทบในระดับน้อย โดยมีสาเหตุที่ได้รับผลกระทบ คือ ยอดขายลดลง และต้นทุนเพิ่มขึ้น สำหรับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ภาคธุรกิจ 45.8% ระบุว่ามีผลกระทบปานกลาง ส่งผลกระทบต่อกำไรในระดับมาก จากยอดขายและจำนวนลูกค้าที่ลดลง

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาคธุรกิจ 41.6% ระบุว่าได้รับผลกระทบปานกลาง กระทบต่อกำไรในระดับมากถึงปานกลาง จากยอดขายที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่ลดลง ทั้งนี้ เมื่อถามว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีโอกาสเกิด NPL กับธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ ส่วนใหญ่ระบุว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในระดับมาก

ส่วนของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาคธุรกิจ 55.4% ระบุว่ามีผลกระทบมาก และส่งผลกระทบต่อกำไรในระดับปานกลาง สาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจ 56.9% ระบุว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะปลดคนงาน ในส่วนของการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ 24.2% จะปรับขึ้นน้อยกว่า 1% รองลงมาจะปรับขึ้น 1-2% และมีจะปรับขึ้น 5% ขึ้นไป ตามลำดับ ทั้งนี้ มี 51.4% จะไม่หาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาแทนคนงานแน่นอน นอกจากนี้ 71.5% ระบุว่าจะไม่มีการเลิกจ้างหรือปลดคนงาน

ในส่วนของทัศนะต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันของภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่ 46.5% มองว่ามีผลกระทบน้อยมาก ยังมีผลไม่มาก เนื่องจากในพื้นที่เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่น้ำป่า น้ำหลาก แต่มีผลกระทบต่อการเดินทาง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจ 43% คาดว่าในอีก 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวจากที่เริ่มฟื้นตัวก่อนหน้า และ 30.3% มองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวแบบช้าๆ

ด้าน นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ว่า GDP ของประเทศจะลดลง (อย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน), อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนงานจะถูกปลดออกหรือไล่ออก, อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต่ำกว่าความต้องการทางเศรษฐกิจ, การกู้ยืมเงินจากรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว

นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น และที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะลดลง เนื่องจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้อุปสงค์ในการถือครองสินทรัพย์เหล่านั้นลดลง, ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ครัวเรือนต่างๆ มีแนวโน้มจะลดการบริโภคลง เนื่องจากรายได้หรือความมั่งคั่งลดลง และบริษัทต่างๆ มีแนวโน้มจะลดการลงทุน เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับสาเหตุของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ในปี 65 ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ประกอบกับการที่ราคาพลังงานและสินค้าเพิ่มยังส่งผลให้ GDP ลดลง ขณะเดียวกัน การที่ GDP ของประเทศคู่ค้าลดลง มูลค่าส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าลดลงก็ส่งผลต่อ GDP ลดลงด้วยเช่นกัน

ในส่วนของช่องทางที่เป็นไปได้ในการส่งผ่านภาวะเศรษฐกิจโลกมายังเศรษฐกิจไทย จะมาในรูปแบบสินค้า (Trade in Goods) และความมั่งคั่ง (Wealth) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และอินเดีย ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง เวียดนามอยู่ในระดับต่ำ และสหรัฐฯ อยู่ในระดับปานกลางถึงสูง

"ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 65 มีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูง ที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ ปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง ประมาณ 1-2% จากกรณีฐาน มีมูลค่าความเสียหาย 200,282 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 1.22% ส่วนความมั่งคั่ง (Wealth) มูลค่าสินทรัพย์ลดลงประมาณ 6% มีมูลค่าความเสียหาย 35,157 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 0.21%

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 65 คือ อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ประมาณ 4-5% มีมูลค่าความเสียหาย 40,752 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 0.25% ถูกนับรวมในประมาณการ ณ มิ.ย. 65, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 0.50-0.75% ต่อปี มีมูลค่าความเสียหาย 30,361 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 0.18% ถูกนับรวมในประมาณการ ณ มิ.ย. 65

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 6.5-7.5% มีมูลค่าความเสียหาย 99,942 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 0.61% ถูกนับรวมในประมาณการ ณ มิ.ย. 65, การปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ส่งผลให้มีมูลค่าเป็นบวก 31,209 ล้านบาท ทำให้ GDP 0.19% และสถานการณ์น้ำท่วมปี 65 มีมูลค่าความเสียหาย 5,536 ล้านบาท ทำให้ GDP ลดลง 0.03%

"นอกจากผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยแล้ว ก็ยังมีปัจจัยเรื่องการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และสถานการณ์น้ำท่วมปี 65 ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 65 ขณะเดียวกัน ประเมินว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 5.0% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป จะมีผลกระทบสุทธิ (Net Impact) เป็นบวกต่อระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 65" นายวิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จะมีผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 65 ลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ถ้าหากสามารถผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นไป 10 ล้านคน จากเดิมที่ตั้งเป้าที่ 6 ล้านคน ก็จะช่วยหักล้าง (Offset) ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไปได้เกือบทั้งหมด และทำให้ GDP ของไทยปีนี้อยู่ที่ 3.1% ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ