ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค.สูงสุดรอบ 37 เดือน รับท่องเที่ยวฟื้นชัดหนุนศก.ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2023 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมี.ค.66 อยู่ที่ระดับ 53.8 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.63

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 48.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 50.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 62.5

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. กลับมาดีสุดในรอบ 3 ปี ใกล้กับช่วงก่อนโควิด สะท้อนว่าคนกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีการซื้อสินค้าคงทนถาวร (รถยนต์) เพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ ภาคท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งในส่วนของไทยเที่ยวไทย และต่างชาติเที่ยวไทย" นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของโลก และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 37 เดือนก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ยังมีการใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบ K shape

"คนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท ยังใช้จ่ายน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ซึ่งมองว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้น แต่ยังไม่กลับมาดีอย่างทั่วถึง" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตา คือ ในเดือนเม.ย. และพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งลงไปในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับในเดือนเม.ย. เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.ผ่านไปแล้ว จะต้องรอดูว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะผ่านไปด้วยดีหรือไม่ ไม่มีการเมืองนอกสภา รวมทั้งความชัดเจนของการมีรัฐบาลใหม่ ตลอดจนนโยบายต่างๆ ที่จะแถลงต่อสภา รวมถึงการขับเคลื่อนงบประมาณด้วย

"คาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.0-3.5% การที่เศรษฐกิจจะโตได้มากกว่า 3.5% อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะมีสุญญากาศในไตรมาส 3 - ไตรมาส 4 (ช่วงมีรัฐบาลใหม่ และการจัดทำงบประมาณ) การลงทุนอาจจะยังไม่โดดเด่น โอกาสที่เศรษฐกิจจะโตมากกว่า 3.5% เป็นไปได้น้อย ช่วงไตรมาส 3-4 ยังขาดกลไกในการขับเคลื่อน เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ก็ต้องใช้พลังจากการท่องเที่ยวอย่างเดียว การส่งออกคงยังช่วยไม่ได้มาก" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในการให้เงินดิจิทัลแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในช่วงระยะ 6 เดือนว่า นโยบายดังกล่าวถือว่าได้รับความสนใจจากสังคมค่อนข้างมาก ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจ และนักวิชาการ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ดี ในแง่ของหลักการนั้น จะต้องพิจารณาว่าต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบใดมาใช้รองรับกับการออกเงินดิจิทัลดังกล่าว เพราะหากเป็นการเติมเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจ ก็อาจจะอยู่ในกลไกการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนโยบายนี้จะต้องมีการปรึกษาหารือหรือขอความเห็นจาก ธปท.ร่วมด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ต้องพิจารณาในแง่ของความคุ้มค่า และความจำเป็น ที่จะใช้เงินราว 5 แสนล้านบาทสำหรับนโยบายดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจจะถูกมองว่ามีความคุ้มค่ามากกว่านโยบายอื่นหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น แทนที่จะใช้เงิน 5 แสนล้านบาทนี้ ไปใช้กับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เพราะการให้เงินดิจิทัลเพื่อซื้อการจับจ่ายในช่วง 6 เดือนนั้น จะช่วยแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่า และชั่งน้ำหนักในระยะยาวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ