ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค. หดตัวต่อเนื่อง รับปัจจัยในประเทศฟื้นช้า-ศก.โลกชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 28, 2023 11:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค. หดตัวต่อเนื่อง รับปัจจัยในประเทศฟื้นช้า-ศก.โลกชะลอ

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 91.85 ลดลง 7.53%YoY ช่วง 8 เดือนปี 66 อยู่ที่ระดับ 94.67 หดตัวเฉลี่ย 4.95%

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 58.18% ช่วง 8 เดือนเฉลี่ย 60.09%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนี MPI เดือนส.ค. ลดลง เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยเงินเฟ้อเดือนส.ค. 66 อยู่ที่ 0.88%

"MPI หดตัวในอัตราใกล้เคียงเดิม เป็นการหดตัวต่อเนื่องมาหลายเดือน ซึ่งเดือนนี้ MPI หดตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 4.95% ภาพใหญ่ยังไม่มีสัญญาณบวก หลักๆ มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การสั่งซื้อลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังเห็นปัจจัยบวกจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หลังประเทศคู่ค้ากังวลภาวะแห้งแล้ง ทำให้เริ่มสะสมสินค้า ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่ใช่อาหาร ชะลอตัวชัดเจน" นางวรวรรณ กล่าว
* อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนส.ค. 66 ได้แก่
  • น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.51% จากน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และเครื่องดื่ม
  • ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.52% จากราคาปุ๋ยปรับลดลงจากปีก่อน สินค้าเกษตรมีราคาปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีการทำโปรโมชันกระตุ้นยอดขาย ทำให้สินค้าถูกระบายออกไปต่อเนื่อง
  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.50% จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก โดยการผลิตขยายตัวต่อเนื่องเป็นไปตามการใช้ในภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
  • เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.32% จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์อื่นๆ ตามการขยายตัวตลาดส่งออก เนื่องจากปีก่อนประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย แต่ปีนี้ประเทศคู่ค้าสำคัญมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.58% จากเสาเข็มคอนกรีตและคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นหลัก เนื่องจากกิจกรรมการก่อสร้างเริ่มเพิ่มขึ้นตามจากราคาเหล็กที่ปรับตัวลดลง ซึ่งคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน การก่อสร้างในโครงการของภาคเอกชน
*เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง

การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนก.ย. 66 ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุน และปริมาณนำเข้าสินค้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้น เป็นผลจากการหดตัวของการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ในประเทศที่ปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ด้านดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทย มีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย 3 เดือนข้างหน้ายังชะลอตัวจากการเผชิญกับภาวะต้นทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นในภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลงและสินค้าคงคลังของประเทศคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในระดับสูง และดัชนีภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า ชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนโยบายด้านพลังงาน เป็นต้น

*จับตาเงินบาทอ่อนค่า อานิสงส์ส่งออกหรือไม่

ในช่วงเดือนก.ย. นี้ เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้เงินมากขึ้นจากการส่งออกที่เท่าเดิม อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับสินค้าทุนบางส่วนด้วย กลุ่มสินค้าที่นำเข้าต่ำเงินบาทอาจช่วยหนุน แต่กลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าสูงอาจไม่ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี หากเงินบาทอ่อนค่าลากยาว ก็อาจมีการเจรจาต่อรองจากประเทศคู่ค้าที่ไม่ได้ตกลงราคาไว้ก่อนได้

สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ผลบวก อาทิ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยาง น้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่นำเข้าสินค้ามาก แต่ก็มีการส่งออกมาเช่นกัน อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องสำอาง ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์ คือ กลุ่มที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ในการผลิต

"ภาคการส่งออก แม้จะมีปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่า แต่ก็ต้องรอดูรอบเดือนก.ย. ว่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการที่บาทอ่อนค่าไปมากก็ไม่ดี เพราะก็ยังต้องนำเข้าสินค้า ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นนั้น มีผลต่อการชะลอการลงทุนใหม่ๆ" นางวรวรรณ กล่าว
*จับตานโยบายของรัฐบาลใหม่ กระตุ้นกำลังซื้อ-เงินหมุนเวียน

สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ อาทิ

1. กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 ระยะเวลาใช้งาน 6 เดือน โดยให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งภาคอุตสาหกรรมคาดหวังว่านโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ

2. แก้ปัญหาหนี้สิน (พักภาระหนี้) ในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่งถ้ารัฐบาลมีการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ลดดอกเบี้ย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ จะทำให้เกษตรกรสบายใจที่จะลงทุนเพิ่มมากขึ้น

3. ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน การจัดการราคาพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมัน เชื้อเพลิง) ลดค่าไฟฟ้าจาก 4.10 เหลือ 3.99 บาท/หน่วย (รอบบิล ก.ย.-ธ.ค. 66) ซึ่งในส่วนนี้ภาคอุตสาหกรรมรอติดตามดัชนี MPI ในเดือนก.ย. ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลมากน้อยเพียงใด

4. ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่นนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน และการจัดทำ Fast Track Visa สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการท่องเที่ยวได้อานิสงส์ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่เข้ามาตามเป้าที่ตั้งไว้ก็ตาม

5. แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็น 2 งวด

6. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มีผลบังคับ 1 ม.ค. 67 ในภาคอุตสาหกรรมต้องติดตามผลกระทบทั้งเชิงบวก และลบ จากการขึ้นค่าแรง

นางวรวรรณ กล่าวว่า นโยบายต่างๆ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลโดยรวมต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ให้มีการขยายการลงทุน และการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานสูง หรือมีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มพลาสติก กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถปิกอัป และยางล้อ เป็นต้น

"นโยบายของรัฐบาลใหม่ อาจดึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมได้ โดยนโยบายแจกเงินดิจิทัลคาดว่าจะมีผลในปี 67 มองว่าอาจเป็นนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมก็คาดหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นกำลังซื้อได้ นอกจากนี้ คาดหวังว่าดัชนี MPI ปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นด้วย" นางวรวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ