แบงก์ชาติ เคาะเปิดให้ยื่นขอไลเซ่นส์ Virtual Bank 20 มี.ค.-19 ก.ย.67

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2024 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติ เคาะเปิดให้ยื่นขอไลเซ่นส์ Virtual Bank 20 มี.ค.-19 ก.ย.67

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผู้ที่สนใจ สามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.- 19 ก.ย. 67 โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และ ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตในวันที่ 19 มี.ค. 67 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของประกาศกระทรวงการคลัง ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Virtual Bank ให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอได้รับทราบอย่างชัดเจน ครบถ้วน และเท่าเทียมกัน โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุมชี้แจงดังกล่าว สามารถศึกษารายละเอียด และลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มี.ค. 67

นายสมชาย คาดว่า จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 โดยผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คลังแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี

* เปิดไทม์ไลน์ยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank

5-13 มี.ค.67                 เปิดให้ผู้สนใจ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุมชี้แจงเงื่อนไขหลักเกณฑ์จัดตั้ง Virtual Bank
19 มี.ค.67                    ธปท. จัดประชุมชี้แจงให้แก่ผู้สนใจรับทราบเงื่อนไขหลักเกณฑ์จัดตั้ง Virtual Bank
20 มี.ค.-19 ก.ย.67         เปิดให้ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท.
ภายใน มิ.ย. 68              ประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank
ภายใน มิ.ย.69               เปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี หลังรมว.คลัง เห็นชอบ

นายสมชาย กล่าวว่า การออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง

นายสมชาย กล่าวว่า เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายข้างต้น ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตามรูปแบบและแผนที่เสนอมา ในแต่ละด้าน ดังนี้

1. ประสบการณ์ ทรัพยากร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

2. ธรรมาภิบาล และความสามารถของผู้ขออนุญาต และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน Virtual Bank

3. ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยี และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

4. ความสามารถในการใช้ และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ หรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างคล่องตัว

5. ประสบการณ์และความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ให้สามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย

6. ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน

7. ความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank อย่างต่อเนื่องของผู้ถือหุ้นสำคัญ

นอกจากนี้ ธปท. จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มีศักยภาพ และความสามารถในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ