ม.หอการค้าฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.6% หวัง "บริโภค-ส่งออก" Key Driver เคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2024 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.หอการค้าฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.6% หวัง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 3.2% โดยสาเหตุที่ต้องปรับลด GDP ลงเนื่องจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม, การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ทำได้ต่ำกว่าที่คาดไว้

พร้อมกันนี้ ยังประเมินว่า ในปี 67 การส่งออก จะขยายตัว 2.8% (จากเดิม 3.0%), อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1% (จากเดิม 2.0%), จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน, รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.61 ล้านล้านบาท (จากเดิม 1.48 ล้านล้านบาท)

ม.หอการค้าฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.6% หวัง

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 2% มีเพียงภาคการผลิต/การส่งออก และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส 2/67 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อยู่ที่ราว 2.5% จากผลของการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 รวมทั้งยังมีแรงส่งจากภาคการผลิต/การส่งออก และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ไตรมาส 3/67 เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1% ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 67 และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต/การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนไตรมาส 4/67 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ 2.8%

ม.หอการค้าฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือ 2.6% หวัง

อย่างไรก็ดี ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ได้กดดันให้ยอดหนี้เสียมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ

"คาดว่าครึ่งปีแรก GDP จะขยายตัวได้ 2.3% ส่วนครึ่งปีหลัง ขยายตัวได้ 2.9% เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้ว จะขยายตัวได้ 2.6%" นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่

1. ภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มจะสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

3. การบริโภคภาคเอกชน ยังเป็น Key Driver ที่ช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

4. การส่งออกสินค้า สามารถพลิกกลับมาเป็น Key Driver ของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง

*Q2/67 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า จะเห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงกลางปีนี้ หรือประมาณไตรมาส 2 หลังจากเริ่มมีการใช้งบประมาณรายจ่าย ปี 67 ที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากมีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งรัดงบรายจ่ายลงทุน ประกอบกับการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ก็จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนค่อยปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่หากเกิดขึ้นได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งขึ้น และน่าจะได้เห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
"ระบบเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาปกติ คนทั่วไปทั้งรายได้สูง รายได้ปานกลาง รายได้ต่ำ จะเริ่มมีกำลังวังชามากขึ้น เพราะราคาพืชผลเกษตรดีแทบทุกตัว ช่วยหนุนนำการบริโภค เศรษฐกิจไทยจะเริ่มแปลงจากรูป K shape ค่อยๆ ฟื้นแบบ U shape เราเห็นจุดเปลี่ยนนี้ และเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทยที่จะเห็นในไตรมาส 2 หลังจากเดือนเม.ย. ที่งบประมาณแผ่นดินออก ถ้ารัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดงบประมาณลงไปโดยเร็ว ก็น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นในอัตราที่ดี" นายธนวรรธน์ ระบุ
*ทางเลือกช่วยเศรษฐกิจไทยโตเกิน 3%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโต 3.1% ได้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนได้มากขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ใกล้เคียง 3% มากขึ้น แต่ที่สำคัญคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถ้ากู้เงินไม่ได้ และใช้งบกลางเข้ามาในปลายไตรมาส 3 ส่วนหนึ่ง ก็อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และถ้าใช้เงินงบประมาณตามกรอบในไตรมาส 3 และ 4 ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยโต 3.1-3.5%

"ประเทศไทยมีจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยโตเกิน 3% เพราะโมเมนตัมของไทย ไม่ได้อยู่ที่โตต่ำกว่า 3%" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี จากที่ ม.หอการค้าไทย ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% นั้น ก็ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยทางเลือกของเครื่องมือที่รัฐบาลสามารถใช้เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโตได้เกิน 3% มีดังนี้

1. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ (ทุก 1 แสนล้านบาท ของการใช้จ่ยเพื่อการบริโภคของรัฐบาล จะช่วยหนุน GDP จะมีผลให้ 0.52%) ซึ่งรัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินการได้ทันที หาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 มีผลบังคับใช้ แต่มี Gap ให้ทำได้อีกไม่มากนัก

2. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุน (ทุก 1 แสนล้านบาท ของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ จะช่วยหนุน GDP จะมีผลให้ 0.68%) ซึ่งรัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินการได้ทันที หาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 มีผลบังคับใช้ แต่อาจจะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

3. มาตรการการคลังผ่านการโอนเงิน เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต (ทุก 1 แสนล้านบาท ของเงินที่โอนให้กลุ่มเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะช่วยหนุน GDP จะมีผลให้ 0.26%) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่หากต้องการให้เกิดผลในวงกว้าง จำเป็นต้องใช้วงเงินสูง และยังมีกระบวนการทางกฎหมายหลายขั้นตอน ทำให้ต้องใช้เวลาอนุมัตินาน

4. การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น วีซ่าฟรี (จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ล้านคน จะมีผลให้ GDP โตเพิ่ม 0.26%) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่ยั่งยืน และเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ในระยะเวลาสั้นๆ อาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

5. การเพิ่มรายได้จากการส่งออก (ทุก 1 แสนล้านบาท ของรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จะมีผลให้ GDP โตเพิ่ม 0.60%) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลที่ยั่งยืน และเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ แต่อาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในระยะเวลาสั้นๆ เช่นกัน

6. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ทุก 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะมีผลให้ GDP โตเพิ่ม 0.12%) ก่อให้เกิดผลในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมี Policy Space ให้ทำได้อีกไม่มากนัก และการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล

"ในปัจจุบัน ประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ด้อยกว่าประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง เพราะการลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.12% แต่ถามว่าช่วยเศรษฐกิจไหม มันช่วย เพราะบรรเทาภาระดอกเบี้ยได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ราว 1.1 แสนล้านบาท และเพิ่มปริมาณเงินในระบบได้ 1.5 แสนล้านบาท แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.12% เพราะการปล่อยสินเชื่อต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นเงินลงทุนจากภาครัฐ หรือเป็นเงินโอน คนจะได้ใช้ทันที นีคือภาพที่ทำให้เราเห็นว่าประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ไม่เท่าประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง" นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ