(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุบาทยังเกาะกลุ่ม จากต้นปีอ่อนค่า 1%,กนง.ดูเงินเฟ้อ-GDP-ค่าเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2008 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มในภูมิภาค โดยอ่อนค่าในระดับกลางเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งธปท.ยังเข้าดูแลอยู่ตามความจำเป็น 
นางธาริษา กล่าวยอมรับว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่วันนี้เข้าที่เข้าทางแล้ว โดยค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวตามภูมิภาค
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่ควรจะดูความเคลื่อนไหวของค่าเงินแบบรายวัน แต่ต้องพิจารณาภาพรวม ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้มีสาเหตุหลักมาจากการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติและนำเงินออกจากประเทศเพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า เป็นสถานการณ์ที่เกิดเหมือนกันทั้งภูมิภาค
"อย่าดูเงินบาทช่วงสั้น เพราะจะทำให้ภาพเพี้ยนไป ธปท.จะดูแลหากมีความผันผวน" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแต่ยังเคลื่อนไหวในระดับกลางเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าไป 1%เศษ ขณะที่มาเลเซียอ่อนค่า 0.8% น้อยกว่าไทย ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 5% ขณะที่เกาหลีอ่อนค่า 10% มากกว่าไทย
สำหรับในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 27 ส.ค.นี้ นางธาริษา กล่าวว่า กนง.คงจะพิจารณาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ แม้ว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อขณะนี้ลดลงแล้ว แต่ยังต้องดูแนวโน้มในระยะต่อไป รวมทั้งความเสี่ยงในอนาคตที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
"กนง.จะนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้าพิจารณา แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมีผลต่อเงินเฟ้อ" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า การดูแลเงินเฟ้อเป็นหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งยืนยันได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีแรงกดดันต่อการทำงานในเรื่องดังกล่าว ส่วนการกำหนดเป้าเงินเฟ้อนั้นกฎหมายกำหนดให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่เมื่อกำหนดได้แล้วการดำเนินการดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย เป็นหน้าที่โดยตรงของ ธปท.ซึ่งถือเป็นแนวปฎิบัติตามสากลอยู่แล้ว
"ธปท.ต้องยืนให้ตรง อย่าไปมองว่ามีแรงกดดันทำให้เราไขว้เขว เราจะต้องมีสมาธิทำงาน โดยคำนึงถึงหน้าที่ต่อประเทศชาติต่อไป" ผู้ว่าธปท. กล่าว
นางธาริษา กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิชาการหลายฝ่ายเสนอว่าการทำงานของธปท.ควรมีอิสระว่า เห็นด้วย โดยกฎหมายฉบับใหม่ระบุให้คนภายนอกที่มากกว่าธปท.เข้ามาเป็นบอร์ด เพื่อเป็นการคานอำนาจกัน
ส่วนการเสนอแยกอำนาจการกำกับสถาบันการเงินออกไปไปจาก ธปท.นั้น รูปแบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีหลากหลาย ไม่มีใครกล้าฟันธงว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมจริงกับประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญมากกว่าคือการตรวจสอบที่ทำให้เกิดความชัดเจนโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง ธปท.ต้องการทำให้ธนาคารเข้มเข็งขึ้นและทำงานอย่างมืออาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ