(เพิ่มเติม) คลัง คาดศก.Q3/51 โต 4.5% แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 28, 2008 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/51 เติบโตได้ราว 4.5% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเริ่มปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องตามภาระค่าครองชีพจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง และผลของมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในระดับมั่นคงจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาก อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและผลของ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน

ทั้งนี้รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะเน้นการสร้างงานและสร้างรายได้เพื่อรองรับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลก คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันนี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สศค. กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ขยายตัว 16.1% ในไตรมาสที่ 3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.4% เนื่องจากภาระค่าครองชีพที่ลดลงตามระดับราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวลง ส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปอาจจะเริ่มมีทิศทางชะลอลง โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น และปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย

ส่วนเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในในไตรมาสที่ 3 พบว่ารายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลจาก 3 กรมจัดเก็บยังขยายตัวต่อเนื่อง 12.4% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาษีฐานรายได้ขยายตัว 17.4% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 51 ที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี

ภาษีฐานการบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ 21.8% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 51 เนื่องจากการบริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยด้านราคาสินค้าและบริการที่ขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้รายได้จัดเก็บของรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 51 จัดเก็บได้รวมทั้งสิ้น 1,547.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.1%

การส่งออกในไตรมาสที่ 3 เริ่มขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง โดยปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 8.9% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 11.3% เป็นการลดลงของสินค้าหมวดอิเลคทรอนิกส์เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณามูลค่าการส่งออกแล้วจะพบว่ายังขยายตัวได้ดีที่ 25.2% ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในไตรมาสที่ 3 พบว่าผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณการชะลอตัวลงเล็กน้อย ซึ่งการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง เป็นผลกระทบจากความไม่เชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 7.2% ลดลงจาก 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและผลของ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค. สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ เดือนส.ค.51 อยู่ที่ 35.5% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50% ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นก.ย.51 อยู่ในระดับสูงที่ 102.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ