(เพิ่มเติม) ธปท.มองศก.ไทยปี 52 มีโอกาสหลุดกรอบ 3.8-5.0% เข้าสู่จุดต่ำสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2008 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในการสัมมนา"The Future of Thai Economy"โดยยอมรับว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวต่ำ 3.8% ซึ่งเป็นคาดการณ์ขั้นต่ำในช่วง 3.8-5.0 ที่ ธปท.ประเมินไว้ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ช่วงต่ำสุดภายในปีหน้า

ทั้งนี้ ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยโดยตรง ขณะที่การลงทุนในประเทศก็อาจจะได้รบผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของภาครัฐที่มีโอกาสเลื่อนออกไปจากที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในไตรมาส 1/52

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้

นางอมรา กล่าวว่า ธปท.ยังหวังว่าการที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการลดผลกระทบวิกฤติการเงินโลก หากมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้นได้

"ตอนนี้จะต้องให้รัฐเป็นตัวนำในการสร้างควาเชื่อมั่นให้กับเอกชน ในการไปลทุนต่าง ๆ รวมทั้งต้องพึ่งพา domestic demand มากขึ้นด้วย"นางอมรา กล่าว

จากที่พูดคุยกับภาคเอกชนพบว่า ปัญหาการเมืองทำให้นักธุรกิจหลายรายชะลอการลงทุนออกไป ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงเรื่อย ๆ นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุน และมองว่าภาคเอกชนนอกจากจะชะลอการลงทุนใหม่ ๆ แล้วก็จะคงกำลังการผลิตที่มีอยู่ไว้ในระดับเดิมด้วย

นางอมรา ระบุว่า จากสถานการณ์ภายในประเทศขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบวิกฤติการเงิน เมื่อปี 40 จะเห็นว่าสถานการณ์ปีนี้ยังดีกว่า เนื่องจากวิกฤติเมื่อปี 40 ประเทศไทยต้องเจอทั้งวิกฤติค่าเงิน และสถาบันการเงิน แต่หลังจากนั้นภาคสถาบันการเงินต่างปรับตัวได้ดีขึ้นมาก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหากพิจารณาจากตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้หลายประเทศต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เมื่อประสบวิกฤติจากปัญหาภายนอกประเทศ จึงต้องกลับมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของไทยเองพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งเพียงพอรับมือวิกฤติจากภายนอกได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองเป็นสิ่งที่จะต้องปลดล็อคและหาทางออกให้ได้ เพราะปัญหาการเมืองไทยกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังประกอบการตัดสินใจลงทุน

นางอมรา ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนว่า ธปท.ยังคงยืนยันที่จะดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคการส่งออกของประเทศ แต่จะไม่ฝืนแนวโน้มของตลาด โดยมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในระยะ 6 เดือนจากนี้ไปสกุลเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ ขณะที่เงินเยนอาจะอ่อนค่าลงซึ่งเป็นการกลับตัวหลังจากที่ในช่วงนี้เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เชื่อว่าการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือน ธ.ค.51 นั้น กนง.จะพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นเพื่อให้การปรับดอกเบี้ยมีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งการที่แบงก์ชาติจะส่งสัญญาณในเรื่องนี้ไปก่อนคงจะไม่เหมาะสม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความตื่นตระหนกของตลาดได้

"การส่งสัญญาณทางการเงิน ไม่ใช่แค่ต้นทุนทางการเงิน แต่เป็นการส่งสัญญาณด้วย ถ้าเราทำฮวบฮาบและมากไป ตลาดจะมองว่ามีปัญหา เพราะฉะนั้นธนาคารกลางทั่วไปจะไม่พยายามทำอะไรที่รุนแรงและรวดเร็วเกินไป เราต้องคำนึงถึงผลจากการส่งสัญญาณด้วย" นางอมรา ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ