ผู้ค้าก๊าซหุงต้มเตรียมปรับลดค่าขนส่งถัง 15 ก.ก.ลง 5 บาทมีผล 15 ม.ค.52

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2008 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ค้าก๊าซหุงต้มเตรียมลดค่าบริการขนส่งก๊าซหุงต้มขนาดบรรจุถังละ 15 ก.ก. ระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร ลงถังละ 5 บาท จากเดิม 15 บาท เหลือ 10 บาท ส่งผลให้ราคาขายถัง 15 ก.ก. ในเขตกรุงเทพฯ จะลดจาก 290 บาท เหลือ 285 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 52 เป็นต้นไป เพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนค่าขนส่งที่แท้จริง ที่ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับลดลงจากลิตร 45 บาท เหลือ 20 บาท ส่วนขนาดบรรจุอื่นๆ ยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด

"ที่ต้องเริ่มในเดือนหน้า เพราะระบบการค้าได้ตกลงราคาไว้ล่วงหน้า รวมทั้งมีสต๊อกต้นทุนเดิม ซึ่งหากถึงเวลากำหนด และผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กรมจะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 29 คือขายเกินราคา จะมีโทษปรับ 140,000 บาท จำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม การลดค่าขนส่งจะไม่มีผลต่อราคาอาหารสำเร็จรูป เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นทุนผลิตเพียงเล็กน้อย” นางวัชรีกล่าวภายหลังหารือกับโรงบรรจุ และร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในครัวเรือน

ด้านนายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว กล่าวว่า ร้านค้าก๊าซหุงต้ม จะหารือกับโรงบรรจุ และผู้ค้าตามมาตรา 7 อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในการลดค่าขนส่ง เพราะค่าขนส่งที่ปรับขึ้น 5 บาทต้องแบ่งจ่ายให้โรงบรรจุ 2 บาท หากราคาน้ำมันไม่ผันผวนเกินไป คาดว่าจะลดค่าขนส่งได้ทันวันที่ 15 ม.ค.52 แต่หากผันผวนมากอาจต้องหารือกับกรมการค้าภายในใหม่ เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการแบกภาระต้นทุนมานาน หลังจากราคาน้ำมันเคยเพิ่มสูงถึงลิตรละ 45 บาท

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทบทวนนโยบายก๊าซแอลพีจี 2 ราคาใหม่ และไม่ควรขึ้นราคาช่วงนี้ เพราะราคาตลาดโลกลดลงต่ำกว่าราคาขายขั้นต่ำในประเทศแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่เคยพุ่งถึงตันละ 900 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันเหลือ 330 เหรียญฯเท่านั้น ต่ำกว่าราคาเพดานขายปลีกที่ในประเทศที่ 340 เหรียญฯ

“ที่ปตท. เคยอ้างว่าขาดทุน จากการแบกภาระส่วนต่างของก๊าซแอลพีจีในประเทศ กับราคาตลาดโลกสูงถึง 7,000 ล้านบาท แต่ผลที่ขาดทุนส่วนใหญ่มาจากการใช้ของภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ที่หันมาใช้แอลพีจีแทนน้ำมัน ขณะที่อัตราการใช้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแค่ 5% เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรคิดเหมาขึ้นราคาพร้อมกัน โดยผลักภาระให้ผู้บริโภค และภาคครัวเรือน ทางที่ดีควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลตลาด หรือเปิดให้มีผู้ค้าตามมาตรา 7 เป็นอิสระ” นายชิษณุพงศ์กล่าว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ