"อภิสิทธิ์" รับปากดูแลงานด้านเศรษฐกิจใกล้ชิด หลังเอกชนผิดหวังโผครม.ศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 19, 2008 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะพยายามดูแลการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้และมุ่งไปสู่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ภายหลังมีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ไม่พอใจรายชื่อรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรมว.พาณิชย์และรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโควต้าพรรคร่วมรัฐบาล

"สภาหอการค้าฯ เห็นข่าวโผครม.ก็รู้สึกผิดหวัง ซึ่งท่านก็เรียนตรงไปตรงมา ผมก็เข้าใจความรู้สึกตรงนี้ดี และอธิบายว่าการทำงานทางการเมือง ผมมีหน้าที่บริหารให้เกิดความสมดุล ให้การเมืองเดินไปได้ เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด ขณะนี้รายชื่อก็เป็นเพียงแค่ข่าว อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ผมจะรับเสียงสะท้อนตรงนี้ ไม่โต้แย้ง และผมก็มีหน้าที่ที่จะหาความสมดุล" นายกรัฐมนตรี กล่าว แต่ปฏิเสธที่จะตอบตรงๆ ว่าจะต้องปรับโผ ครม.หรือไม่

ส่วนข้อเสนอแนะของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนั้น นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่ตรงกับแนวนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว

ทั้งนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย นำเสนอมาตรการระยะสั้น 5 ข้อและมาตรการระยะปานกลาง 3 ข้อต่อรัฐบาลที่วันนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมหารือกับภาคเอกชนเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

โดยมาตรการระยะสั้นในช่วง 6 เดือน ประกอบด้วย 5 ข้อสำคัญ คือ 1.การสร้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ด้วยการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ เน้นการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ , 2.การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีทางสังคม ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย, 3.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด สนับสนุนงบประมาณให้เอกชนผ่านกองทุนต่างๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นและขยายตลาดต่างประเทศร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

4.การสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของรัฐบาล ด้วยการกำหนดมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยเร็วและแรงผ่านมาตรการทางการคลังและการเงินที่เฉียบขาด, กำหนดมาตรการสนับสนุนภาคการค้าและการลงทุน, ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ, กำหนดมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อให้เอกชนมีความสามารถในการแข่งขัน และช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน

5.การแก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยรัฐบาลต้องกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อดลการเลิกจ้างงาน, เร่งการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพให้มากขึ้น

สำหรับมาตรการระยะปานกลาง ประกอบด้วย 3 ข้อหลัก คือ 1.การพัฒนาและส่งเสริมด้านการศึกษา โดยปรับปรงุระบบการศึกษาให้มีความทัดเทียมและทั่วถึงทั้งประเทศ รวมทั้งส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของครูและเยาวชนให้มีคุณภาพ

2.เสริมสร้างความสามารถในด้านการแข่งขันให้ประเทศ ทั้งด้านการลงทุน โดยเร่งโครงการเมกะโปรเจ็กท์ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว, พิจารณาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อรองรบการขยายการค้าและการลงทุน, ด้านการค้า โดยเพิ่มบทบาทให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมเจรจาการค้าในตลาดต่างประเทศทุกเวที, ด้านการท่องเที่ยว โดยให้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคนละไม่เกิน 20,000 บาท/ปี, ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(คบส.) เพื่อสานต่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศอย่างถาวรในระยะยาว

ด้านภาษี ด้วยการยกเว้นหรือลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อส่งเสริมให้มีการซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเพื่อรอรับเงินปันผลมากกว่าเก็งกำไรระยะสั้น, รักษาระดับอัตราดอกเบี้ย RP ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน-1 ปี เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ด้านกฎหมาย ด้วยการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, เร่งรัดการออก พ.ร.บ.ค้าปลีก-ค้าส่ง แก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการตรวจสอบอาคาร เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมาย

3.กำหนดนโยบายพลังงานถาวร ดวยการกำหนดนโยบายด้านพลังงานทดแทนที่มีความชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชนและผู้บริโภค รวมทั้งพิจารณาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการนำแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในปี 51-54 ของกระทรวงพลังงานมาขยายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ