สภาพัฒน์แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา รสก.ขาดทุน ปี 52 คาดสูงกว่า 1 แสน ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday January 25, 2009 20:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยในปีงบประมาณรายจ่าย 2552 มีรัฐวิสาหกิจที่ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก 4 แห่ง ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ที่คาดว่าจะขาดทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท ขณะที่ บมจ.การบินไทย(THAI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มีแนวโน้มที่จะประสบภาวะขาดทุนรวมกันกว่าแสนล้านบาท

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างองค์กร การบริหารงาน การดำเนินงาน และการเงิน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนดำเนินการได้ต่อเนื่อง ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เริ่มขาดทุนควรให้เร่งปรับปรุงผลการดำเนินงานโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจต้องทบทวน แผนการ ลงทุน และจัดทำแผนลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เนื่องจากกรอบและงบประมาณปี 2552 มีเพียง 237,142 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีงบประมาณ 289,756 ล้านบาท แต่ไม่ได้รวมโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างเตรียมการ เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องบิน 20 ลำของการบินไทย โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ของ รฟท. และโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ทั้งนี้เนื่องจากมีการจัดสรรงบลงทุนเพิ่มในการพัฒนาด้านศักยภาพบุคลากรและการวิจัยพัฒนามากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในระยะยาว

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังเสนอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดต้องกำกับดูแลเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ลงทุนให้เต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร รวมทั้งจัดทำแผนงานและการเบิกจ่ายลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนที่ขออนุมัติเป็นรายปี

ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ยังเสนอให้เร่งสรรหาผู้บริหารสูงสุดขององค์กรรัฐวิสาหกิจโดยเร็วที่สุดเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

อีกทั้งรัฐบาลต้องให้รัฐวิสาหกิจจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายฐานและความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ ประหยัดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงาน เพื่อให้แข่งขันกับอุตสาหกรรมเดียวกันได้ และกำหนดให้ส่งแผนพัฒนาธุรกิจประกอบการพิจารณางบประมาณประจำปี และให้ศึกษาสภาพปัญหาดำเนินงานและจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวม โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ