นักวิชาการมองศก.ทรุดทั่วโลกเป็นอุปสรรคขยายความร่วมมือการเงินอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 20, 2009 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 เตรียมเปิดฉากหารือเป็นวาระพิเศษ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ที่ จ.ภูเก็ต โดยปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้ โดยวาระการหารือหลักเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการรับมือเศรษฐกิจโลกของประเทศในกลุ่มอาเซียน และ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

และการเดินหน้าข้อตกลง ร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement)และขยายไปสู่ความตกลงแบบพหุภาคี (Multilateralisation) ตามมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ (ChangMai Initiative) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องการนำไปสู่การหารือในเวทีใหญ่ อย่างอาเซียน ซัมมิท ในปลาย ก.พ.

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวให้ความเห็นว่าการประชุม รมว.คลังอาเซียน+3 นัดพิเศษครั้งนี้ คงจะหารือใน 2-3 ประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแนวคิดความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน ถือว่าเป็นการลอกเลียนแบบแนวคิดของประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งหลายเรื่องยุโรปใช้เวลานานหลายปีกว่าจะบรรลุข้อตกลง เช่น ในเรื่องของการใช้เงินยูโร เป็นเงินสกุลหลัก ดังนั้น หลายแนวคิดที่กลุ่มอาเซียนกำลังดำเนินการ คงต้องใช้เวลาอีกเช่นกัน

และ ในการหารือประเด็นการขยายความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement) สู่ความตกลงลักษณะพหุภาคี (Multilateralisation) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน จะใช้เงินสกุลของประเทศนั้น เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าของอีกประเทศได้ ระยะแรกอาจเป็นความร่วมมือของ 2 ประเทศ ส่วนการขยายข้อตกลงไปอีกหลายประเทศ ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อม ซึ่งดำเนินการได้ในลักษณะ 2 สปีด (speed) คือ สปีดช้า กับ สปีดเร็ว

ส่วนจะนำไปสู่การใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของประเทศสมาชิก เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง เห็นได้จากประสบการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ที่ประเทศกลุ่มอาเซียนประสบปัญหา และต้องพึ่งพาเงินจากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์กรอื่นๆ ที่นำมาสู่เงื่อนไขต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ มองว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ ในกลุ่ม +3 ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพราะภาพรวมแล้วจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการสร้างความเข้มแข็ง การถ่วงดุลอำนาจของยุโรปและสหรัฐ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศจำเป็นต้องวางนโยบายร่วมกัน ก่อนนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 โดยเฉพาะภายใต้แรงกดดันทั้งจากต่างประเทศ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ยิ่งควรทำให้ประเทศในกลุ่มเอเซีย เพิ่มความร่วมมือกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวคิดทั้งการขยายข้อตกลง CMI ไปสู่พหุภาคี หรือ การตั้งกองทุนเงินสำรองระหว่างประเทศ เสริมสภาพคล่องของประเทศสมาชิก เชื่อว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่คงไม่ใช่ในเวลาอันใกล้นี้ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต้องใช้เวลาอีกมากน้อยแค่ไหน และยิ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ยอมรับว่าอาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ให้ประเทศสมาชิกอาจยังลังเล ที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้โดยเร็ว

สำหรับนโยบายการดูแลเศรษฐกิจไทย ที่นายกรณ์ จาติวณิช รมว.คลังของไทยจะนำไปหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีนี้นั้นเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศได้ เห็นได้ชัดเจนจากความพอใจของภาคเอกชนที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ และเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ และที่สำคัญการที่การเมืองในประเทศนิ่ง รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ยิ่งสร้างความมั่นใจต่อมุมมองของต่างชาติมากขึ้นด้วย

ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวให้ความเห็นว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้ประเทศกลุ่มอาเซียน มีความร่วมมือกันมากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากตลาดในอาเซียนมีการรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะการที่ไทยและอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออก ยิ่งจะสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น

แต่มองว่าแนวคิด Bilateral Swap Agreement เพื่อนำไปสู่ความตกลงลักษณะ Multilateralisation คงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศต่างๆ อีกทั้งแนวปฏิบัติของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะแตกต่างจากที่อื่น ที่มักจะมีการทำข้อตกลงกันก่อน ส่วนแนวทางวิธีปฏิบัติไว้หารือกันทีหลัง ซึ่งข้อดีคืออาจจะทำให้แนวคิดและข้อตกลงต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย แต่อาจจะกลายเป็นปัญหาเพราะยังไม่เคยชินกับวิธีการนี้เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ