(เพิ่มเติม) TDRI มองการฟื้นตัวของศก.ไทยยังไม่ชัดเจน ชี้ช่วง 1 ปียังมีปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ในกรอบไม่มีความรุนแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เห็นได้จากกลุ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังซื้อต่อเนื่อง และดัชนีเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ทั้งนี้ยังไม่อาจวางใจได้ 100% เพราะยังคงต้องระมัดระวัง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบ V Shape เกิดขึ้นในบางภาคส่วนการผลิตเท่านั้น เช่น สาขายานยนต์ และสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเคยดิ่งลงในช่วงวิกฤติและได้ปรับตัวขึ้นแรงเช่นกัน โดยได้ประโยชน์จากจีนและประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทำให้ประเทศเล็กๆ แถบเอเชีย รวมทั้งไทยได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น ยอดส่งออกไปจีนสูงมาก บางเดือนขยายตัวสูงถึง 80%

นายสมชัย กล่าวว่า การฟื้นตัวในภาพรวมสัญญาณอาจเริ่มแผ่วลง เพราะจีนเริ่มลดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างชัดเจน ดังนั้น ในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก คือ สหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่นจะแข็งแรงขึ้นทันการแผ่วตัวของจีนหรือไม่ หากทันก็ไม่มีปัญหา แต่หากทิ้งช่วงก็อาจทำให้การฟื้นตัวของไทยสะดุดได้บ้าง

พร้อมกันนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ คือความเร็วและความชัดเจนของการแก้ไขปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศแถบยุโรป และปัญหาการเมืองที่ยังไม่สงบชัดเจนและอาจปะทุขึ้นใหม่ได้

นายสมชัย กล่าวว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปในแนวทางที่ดี และรัฐยังคงกระตุ้นต่อเนื่องในบางมาตรการ แต่สิ่งที่น่าสนใจในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวะที่ 2 คือ โครงการไทยเข้มแข็งซึ่งขยายระยะเวลาสิ้นสุดออกไปอีก 1 ปี ยังคงมีปัญหาในลักษณะเบี้ยหัวแตกทางความคิดและดำเนินการได้ล่าช้ากว่าที่คิด

"เสนอให้รัฐบาลนำโครงการไทยเข้มแข็งมาทบทวนดูแบบองค์รวมอีกครั้ง ควรทำการระดมความคิดเพื่อคัดกรองให้ชัดเจนว่าควรบรรจุโครงการใดอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นลงทุนระยะยาวและเกิดประโยชน์ในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้มีเวลาทำได้ เพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการอัดฉีดเม็ดเงินลดลงจากปีที่แล้วมาก" นายสมชัย กล่าว

ส่วนปัญหาหนี้สาธารณะนั้น รัฐบาลควรมีกลยุทธ์ในการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ(Exit strategy) ที่ดีเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากเป็นการดูแลภาระทางการคลังในอนาคตแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจให้ตลาดการเงิน เพราะหากตลาดไม่ไว้ใจก็จะส่งสัญญาณขอดอกเบี้ยแพง ซึ่งจะไปซ้ำเติมภาระทางการคลัง หลายประเทศที่มีปัญหาหนี้สูงอย่างกรีซ สเปน ก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้วจึงควรระวังเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม อัตราหนี้สาธารณะไม่มีสูตรสำเร็จว่าแค่ไหนจึงสูงเกินไป โดยทั่วไปประเทศที่มีอัตราการออมสูงมักจะรองรับอัตราหนี้สาธารณะที่สูงได้มากกว่าประเทศที่ออมต่ำ เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะเกือบ 200% ของ GDP แต่มีอัตราการออมสูงมาก คนจึงรู้สึกว่าไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลสามารถเก็บภาษีจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้

แต่สำหรับประเทศไทยแม้จะมีการออมสูงเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้ง่ายและทันการณ์ เนื่องจากต้องไปเก็บจากคนที่มีรายได้สูงนั่นคือคนกลุ่ม 20% ของประเทศ ที่มีสัดส่วนการออมคิดเป็น 80% ของการออมทั้งประเทศ การเก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้มักได้รับการต่อต้านทางการเมืองและผลักดันได้ยาก

"กลยุทธ์ในการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรเป็นการถอนทันที แต่ควรกำหนดจังหวะเวลาการถอนให้ขึ้นกับเงื่อนไขการฟื้นตัวที่ชัดเจน เรียกว่า conditional exit strategy ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำอย่างชัดเจน แต่ก็มีการพูดถึงว่าจะลดการใช้เงินกู้ลง หันมาใช้รายได้ภาษีที่เริ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายแทน ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ exit strategy ได้เช่นกัน" นายสมชัย กล่าว

สำหรับโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจของไทยในตลาดโลก เชื่อมั่นว่านักธุรกิจไทยมีความสามารถในการปรับตัวสู้ได้ ประสบการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง พิสูจน์ให้เห็นในการขยายตัวด้านการส่งออก แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากค่าเงินที่ลดลงมากในช่วงนั้น แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ซึ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทน้อยลง (ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่องมาหลายปี) แต่ยังคงส่งออกได้ดี แสดงว่านักธุรกิจของไทยปรับตัวสู้กับเวทีโลกได้พอสมควร

การปรับตัวต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอนาคตควรต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ลดการใช้แรงงานเข้มแข้นในแบบเดิมๆ ลง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและบริการ เช่น ด้านไอทีมาใช้กับธุรกิจมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ซึ่งจะทำให้คล่องตัวในการบริหารและเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจไทยในระยะยาว

ขณะเดียวกันภาครัฐควรให้ความสำคัญและเข้ามาเป็นแกนนำสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว เพราะปัจจุบันไทยทำเรื่องนี้น้อยมาก รัฐบาลควรเป็นผู้ริเริ่มลงทุนและกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างแพร่หลายและกระจายผลประโยชน์ลงไปถึงธุรกิจขนาดเล็กด้วย ก็จะช่วยให้ธุรกิจไทยแข่งขันไปตลาดโลกได้ดีขึ้น และจะทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ