พลังงานยันเจาะหลุมสำรวจน้ำมันในอ่าวไทยมีมาตรฐานไม่รั่วซ้ำรอยอ่าวเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุยกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจาะหลุมสำรวจเพื่อค้นหาปิโตรเลียมบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบเกาะสมุย, เกาะพงัน และเกาะเต่า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอ่าวไทย เช่นเดียวกับที่เกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัท BP รั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกนั้น ในสภาพความจริงแล้วแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีความแตกต่างกับอ่าวเม็กซิโกเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านสภาพภูมิศาสตร์และลักษณะทางธรณีวิทยา

เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอ่าวไทยเป็นแหล่งขนาดเล็กและมีโครงสร้างไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีความดันของแหล่งปิโตรเลียมค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 2,000 - 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว มีความลึกเฉลี่ยของชั้นทราย (reservoirs) อยู่ที่ประมาณ 2.5 - 3.0 กิโลเมตร โดยเฉพาะแหล่งน้ำมันดิบจำเป็นต้องติดตั้งปั๊มช่วยดูดและดันน้ำมันขึ้นมา

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวไทยเฉลี่ยอัตราวันละ 128,000 บาร์เรลจาก 11 แหล่ง ซึ่งต้องใช้หลุมผลิตจำนวน 476 หลุม เท่ากับมีอัตราการไหลเฉลี่ยเพียงหลุมละ 300 - 500 บาร์เรล/วัน และในขณะที่อ่าวเม็กซิโกเป็นแหล่งกักเก็บน้ำมันดิบขนาดใหญ่ มีความดันในหลุมสูงถึง 13,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว มีความลึกเฉลี่ยของชั้นทรายอยู่ที่ 5.5 กิโลเมตร และคาดว่าอัตราการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากหลุมเดียวอาจสูงถึง 30,000 - 50,000 บาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ระดับความลึกของทะเลในอ่าวไทยเพียง 30 - 80 เมตร ทำให้การควบคุมและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการพลุ่ง (Blowout Preventer) บนแท่นเจาะมีความปลอดภัยกว่าเพราะตั้งอยู่บนแท่น ในขณะที่หลุมน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกที่เกิดอุบัติเหตุมีระดับความลึกของน้ำถึง 1,550 เมตร มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการพลุ่งอยู่ที่ก้นพื้นทะเล การควบคุมมีความซับซ้อนกว่ามาก และมีสภาพที่ยากต่อการปฏิบัติงาน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายหนึ่งที่มีแผนการสำรวจแปลง G5/50 ชซึ่งได้รับสัมปทานไปตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2550 นั้น ตามข้อผูกพันการสำรวจจะต้องมีการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุมภายใน 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นปีนี้ ภายหลังจากได้แปลผลข้อมูลทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์แล้ว บริษัทจึงมีแผนที่จะเจาะหลุมสำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบหาแหล่งปิโตรเลียม โดยมีตำแหน่งโครงสร้างที่น่าสนใจแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากเกาะสมุยไปทางตอนใต้ประมาณ 42 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เจาะสำรวจได้ ผู้รับสัมปทานจะต้องศึกษาและจัดรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอขอรับความเห็นชอบจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมก่อน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงยังไม่มีการอนุญาตให้เริ่มดำเนินการและไม่มีการเจาะหลุมสำรวจใดๆ ใกล้เกาะสมุยทั้งสิ้น

กรณีนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานแจ้งให้บริษัทผู้รับสัมปทานเร่งชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการจัดทำรายงาน EIA ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ศึกษาวางระบบและมาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุเป็นพิเศษประกอบการทำแผนการเจาะให้มีความปลอดภัยสูงสุด และให้ศึกษาตำแหน่งโครงสร้างทางธรณีวิทยาอีกครั้งว่ามีเหตุผลทางวิชาการอย่างไรจะสามารถขยับหรือปรับแผนการเจาะอย่างไรได้หรือไม่ โดยไม่กระทบต่อแผนการดำเนินงานในภาพรวม

นพ.วรรณรัตน์ ยืนยันว่า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยจึงมีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ มีความพร้อมของเทคโนโลยีและด้านกฎหมาย มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้บริษัทผู้รับสัมปทานดำเนินการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยบนแท่นเจาะหรือแท่นผลิต และในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้โดยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ติดตั้งบนแท่น ผู้ประกอบการโรงกลั่นและบริษัทผู้รับสัมปทานได้ร่วมกันจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์เผชิญเหตุรั่วไหลของน้ำมันในทะเลไว้ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะสามารถระดมขอความช่วยเหลือได้โดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ