(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ คาดส่งออก H2/53 โต 11.8% จาก 36.6% ใน H1/53,ทั้งปีโต 22.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 7, 2010 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 53 จะเติบโตได้ 22.9% โดยช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกน่าจะขยายตัวในลักษณะชะลอลงจากครึ่งปีแรกมาอยู่ที่ 11.8% จากที่เติบโตสูงถึง 36.6% ในครึ่งปีแรก

"สำหรับการคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 53 ที่คาดว่าจะขยายตัว 22.9% นั้น เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดการส่งออกขยายตัว 10-15% ทั้งนี้สาเหตุหลักมา จากแนวโน้มการส่งออกในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีกว่าคาด ถึงแม้จะพบว่าครึ่งปีหลังการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แต่เมื่อประเมินภาพรวมทั้งปีจะทำให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย"นายอัทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ การประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.60-31.70 บาท/ดอลลาร์

สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกในครึ่งปีหลัง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งมีหลายประเทศที่เข้าสู่ช่วงภาวะชะลอตัวแล้ว ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จีน และอินเดีย หากเศรษฐกิจโลกลดลง 1% จะกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ลดลง 0.25%, ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตโลกชะลอตัวลง โดยล่าสุด PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการผลิตโลกเดือนส.ค.53 อยู่ที่ระดับ 53.8 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับจาก ธ.ค.52 เนื่องจากคำสั่งซื้อและการผลิตที่ชะลอลง

รวมทั้ง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังแข็งค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเดือนส.ค.53 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.9% เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซียที่ค่าเงินริงกิตแข็งค่า 6.6% ส่วนค่าเงินอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้น 3.4%, 2.9% และ 1.9% ตามลำดับ

นายอัทธ์ กล่าวว่า แม้การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้การส่งออกสินค้าบางชนิดได้รับผลกระทบมาก คือ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง อาทิ ข้าว กาแฟ ปาล์มน้ำมัน เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ในทางกลับกันเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งมีราคาลดลง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม โลหะ เหล็ก นาฬิกา เครื่องประดับ เป็นต้น

"มองว่าผู้ประกอบการน่าจะใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้กรอบเปิดเสรีการค้าอาเซียน(อาฟต้า) ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก็น่าจะเพิ่มการลงทุนและซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต"นายอัทธ์ กล่าว

และปัจจัยสุดท้าย คือ การลดค่าเงินดองของเวียดนาม ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี เวียดนามลดค่าเงินด่องแล้วถึง 3 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อไปอีก โดยมีโอกาสหลุด 30.00 บาท/ดอลลาร์ไปแตะ 29.80 บาท/ดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 4/53 เนื่องจากคาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความไม่มั่นใจที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดทุนสหรัฐหรือยุโรป

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น หากเป็นการปรับขึ้นลงและไม่แตกต่างกับสกุลเงินในอาเซียนด้วยกันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและส่งออกของไทยในตลาดโลกมากนัก และไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดไว้ 6.5-7% แต่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเหลือเพียง 4.5% และการส่งออกเติบโตไม่เกิน 20%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ