(เพิ่มเติม) KBANK จับมือ ThaiBMA ออกหุ้นกู้ 17 ล้านยูโร ขายบนบล็อกเชนเป็นธนาคารแรกในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 19, 2020 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) KBANK จับมือ ThaiBMA ออกหุ้นกู้ 17 ล้านยูโร ขายบนบล็อกเชนเป็นธนาคารแรกในไทย

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้ดำเนินการเสนอขายและออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศผ่านเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชน (Blockchain) ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย ที่เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศผ่านโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมธุรกรรมครั้งนี้

โดยหุ้นกู้สกุลเงินยูโรที่ออกในครั้งนี้ เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 17 ล้านยูโร แบ่งเป็น 17,000 หน่วย อายุหุ้นกู้ประมาณ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.52% ต่อปี และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุด F1+(tha)

สำหรับการออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรมูลค่า 17 ล้านยูโรครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการหุ้นกู้ธนาคารกสิกรไทย วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ธนาคารสามารถเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้โครงการ Medium Term Note ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของธนาคารในการจัดหาช่องทางของแหล่งเงินทุนที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถปรับใช้ได้ตามสภาวการณ์ที่เหมาะสมของตลาดและการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าการเสนอขายแบบปกติ เนื่องจากธนาคารได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในตลาดทุนไทย ซึ่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยธนาคารร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก สำนักงาน ก.ล.ต.ให้นำร่องโครงการ Registrar Service Platform Phase 1 (RSP1) และบรรจุอยู่ในโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในระยะที่ 1 โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการเสนอขายหุ้นกู้ได้หลายรูปแบบหลายสกุลเงิน

ด้านนายศีลวัต สันติวิสัฏฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส KBANK กล่าวว่า การจำหน่ายหุ้นกู้ผ่านระบบ Blockchain จะช่วยลดต้นทุนจากการออกหุ้นกู้แบบปกติได้สูงถึง 80-90% เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นกู้เอกชนด้วย เพราะผู้ซื้อและผู้ชายสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงประโยชน์ของผู้ออกหุ้นกู้สามารถทราบถึงผู้ถือหน่วยหุ้นกู้ได้ในทันที ไม่ต้องรอทราบจนถึงวันปิดสมุดทะเบียน

ในส่วนของนายทะเบียนหุ้นกู้เอง ก็มีความมั่นใจและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนดังกล่าว โดยสามารถจัดการข้อมูล ตรวจสอบ สอบทาน หรือติดตามผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนงานที่เคยใช้คนทำ (Manual) เนื่องจากลักษณะพื้นฐานของเทคโนโลยีของ Blockchain และ smart contract ซึ่งทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และมีความปลอดภัยสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไปพร้อมๆ กันในยุคดิจิทัลนี้

ด้านของผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian) นั้น เทคโนโลยีนี้ยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างโลกของธุรกิจการรับฝากทรัพย์สินทางการเงินในปัจจุบัน กับโลกของการรับฝากทรัพย์สินดิจิทัล ระบบนี้ทำให้หุ้นกู้ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบันสามารถเก็บในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย และเปิดโอกาสให้มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้อีกมาก อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการให้บริการของผู้รับฝากทรัพย์สินก็อีกด้วย

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า หุ้นกู้สกุลเงินยูโรชุดนี้ เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศหลายแห่งที่แสดงความจำนงร่วมใช้งานระบบภายใต้โครงการ Registrar Service Platform Phase 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบงานในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยประยุกต์ใช้ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain มาช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลผู้ถือครองตราสารหนี้ที่ผู้ร่วมตลาดทุกรายใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน

โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้จากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ไทย อาทิ ผู้ออกตราสารหนี้ นายทะเบียน ผู้จัดการการจัดจำหน่าย ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งมุ่งหวังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในตลาดแรกของตราสารหนี้ภาคเอกชนให้เป็น DLT Scripless Corporate Bond ซึ่งโครงการ RSP1 จะเป็นก้าวแรกของการกระโดดครั้งใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ไทย และจากการจัดการออกและขายหุ้นกู้ของธนาคารกสิกรไทยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบและมาตรฐานในการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยต่อไปได้

นายธาดา คาดว่าการออกหุ้นกู้เอกชนในปี 63 จะอยู่ที่ 8-9 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีการออกหุ้นกู้เอกชนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.08 ล้านล้านบาท โดยการออกหุ้นกู้เอกชนเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีมากขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.และมิ.ย.นี้ เพราะตลาดหุ้นกู้เริ่มกลับมามีเสถียรภาพ และการที่ธนาคารกลางต่างๆ มีการประกาศมาตรการเข้ามาช่วยอุ้มหุ้นกู้ที่เป็น Investment Grade ทำให้ความมั้นใจของตลาดกลับมา

โดยที่เริ่มเห็นบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง A- ขึ้นเพิ่มขึ้น จากความต้องการของตลาดที่ยังมองเห็นโอกาสและผลตอบแทนที่ดี และมีความเสี่ยงไม่สูง ทำให้กลุ่มนักลงทุนที่เป็นผู้ซื้อหุ้นกู้รายหลัก คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันความต้องการซื้อหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง A- ขึ้นไปในช่วงนี้ ส่วนกลุ่มหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า A- ลงมา มองว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าความมั่นใจของตลาดจะกลับมา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมานี้หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งต่ำ A- ลงมาจะดูชะลอตัวลงไป เพราะความต้องการซื้อของตลาดยังไม่กลับมา

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน KBANK กล่าวว่า แม้ว่าไนช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้และหุ้นกู้เอกชนจะเกิดความผันผวน จากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลก ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และมีการไถ่ถอนตราสารหนี้และหุ้นกู้ออกมา

แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้และหุ้นกู้เอกชน เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงบ้าง แม้ว่าจะยังไม่คลี่คลายลงอย่างชัดเจน ประกอบกับการที่ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ ในโลก โดยเฉพาะธนาคารหลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ออกหุ้นกู้เอกชน โดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปซื้อหุ้นกู้เอกชน ทำให้ตลาดหุ้นกู้เริ่มกลับมาดีขึ้น และนักลงทุนต่างมีความมั่นใจในการลงทุนหน่วยหุ้นกู้เอกชน

โดยช่วงเดือนพ.ค.เป็นต้นมา เริ่มเห็นผู้ประกอบการที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งที่ดีในระดับ A- ขึ้นไปทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยตุนเงินสดและเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท รองรับโอกาสในการลงทุนในระยะต่อไป และกลุ่มนักลงทุนสถาบันเริ่มกลับมาซื้อหุ้นกู้เอกชนด้วย จากความมั่นใจของภาพรวมสถานกานณ์ตลาดตราสารหนี้และหุ้นกู้เอกชนที่กลับมาดีขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นกู้เริ่มเห็นการปรับตัวฟื้นขึ้นมา แม้ว่าจะยังไม่ดีเท่ากับปีก่อนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมองว่าในปีนี้ยังมีผู้ประกอบการที่อันดับเครดิตเรตติ้งดีจะทยอยออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยธนาคารคาดว่าภาพรวมของมูลค่าหุ้นกู้เอกชนในปีนี้จะอยู่ราว 9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่ 1.08 ล้านล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ