บริษัทจีนเล็งนำหุ้นจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ กังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ

ข่าวต่างประเทศ Monday May 19, 2025 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทอย่างน้อย 5 แห่งจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือฮ่องกงวางแผนที่จะเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจีนกำลังมองหาลู่ทางที่จะขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การค้าทั่วโลกยังคงตึงเครียด โดยเฉพาะข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์เป็นสื่อแรกที่รายงานข่าวดังกล่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าว และจากนั้นสื่อหลายแห่งก็มีการรายงาน ซึ่งรวมถึงสำนักข่าวซีเอ็นบีซี และสเตรทส์ ไทม์ส โดยแหล่งข่าวระบุว่า บริษัทเหล่านี้รวมถึงบริษัทพลังงานของจีน 1 แห่ง, บริษัทเฮลธ์แคร์ของจีน 1 แห่ง และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ 1 แห่งซึ่งมีฐานธุรกิจในเซี่ยงไฮ้

นักวิเคราะห์จากซีจีเอส อินเตอร์เนชันแนล ซิเคียวริตีส์ (CGS International Securities) กล่าวว่า บริษัทจีนกำลังมองหาโอกาสในการระดมทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็ต้องการขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่าสิงคโปร์เป็นช่องทางที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือกิจกรรมทางธุรกิจจากจีนสู่โลกภายนอก และการจดทะเบียนในสิงคโปร์เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งนั้น

การนำหุ้นเข้าจดทะเบียนจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดหุ้นสิงคโปร์ซึ่งเผชิญกับความยากลำบากในการดึงดูดการจดทะเบียนขนาดใหญ่และเพิ่มปริมาณการซื้อขาย แม้สิงคโปร์จะเป็นตลาดหุ้นที่ได้รับความนิยมสำหรับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ระบุว่า ในปี 2567 มีการทำ IPO ในตลาดหุ้นสิงคโปร์เพียง 4 ครั้งเท่านั้น เทียบกับคู่แข่งอย่างตลาดหุ้นฮ่องกงที่มีบริษัทนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่มากถึง 71 ราย

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 145% และจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็น 125% ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงปรับลดภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วัน แต่การที่จีนและสหรัฐฯ ยังไม่มีการทำข้อตกลงการค้าในระยะยาวทำให้เกิดความกังวลว่ากำแพงภาษีที่ยังคงมีอยู่นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ