Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญเตือนตลาดแรงงานอังกฤษจะเผชิญกับความท้าทายหลัง Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2019 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพาเวล อดรีแจน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษจากบริษัทอินดีด ไฮริ่ง แล็บ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า แม้เป็นการยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบของการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่มีต่อตลาดแรงงานในอังกฤษ อันเนื่องจากความไม่แน่นอน แต่บางภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป (EU) อย่างมากนั้น จะเผชิญกับความท้าทาย

  • เศรษฐกิจที่อ่อนแอ, ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
"สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เศรษฐกิจโดยรวมกำลังชะลอตัวลง และการลงทุนกำลังชะลอตัวลงด้วยในอังกฤษ แต่ตลาดแรงงานไม่ได้หยุดการขยายตัว" นายอดรีแจนกล่าว

ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) บ่งชี้ว่า จำนวนแรงงานในอังกฤษปรับตัวขึ้นอีกครั้งสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 32.7 ล้านคนระหว่างเดือนพ.ย.ปีที่แล้วจนถึงเดือนม.ค.ปีนี้

นายอดรีแจนกล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ ความไม่แน่นอนและการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับ Brexit

"ธุรกิจต่างๆ ยังคงลังเลที่จะลงทุนในโครงการระยะยาว เนื่องจากความไม่แน่นอน และหนทางเดียวที่พวกเขาจะสามารถตอบสนองความต้องการก็คือยังคงต้องจ้างพนักงานต่อไป ซึ่งส่งผลให้การจ้างงานขยายตัว" นายอดรีแจนกล่าว

"แนวโน้มประการที่สองก็คือ เป็นเรื่องที่ยากขึ้นสำหรับธุรกิจต่างๆที่จะจ้างพนักงานมากขึ้น เพราะมีคนตกงานน้อยลง เนื่องจากอัตราการจ้างงานอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์" เขากล่าวเสริม

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า การหลั่งไหลของผู้อพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศ EU ได้ชะลอตัวลง โดยทั้ง 3 เหตุผลนี้ส่งผลต่อข้อมูลการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา

  • แรงงานของ EU ไม่สามารถทดแทนได้
"เรายังไม่รู้ว่า Brexit จะออกมารูปแบบใด หรือจะเกิดขึ้นเมื่อใด" นายอดรีแจนกล่าว "เป็นการยากที่จะระบุว่า Brexit จะมีผลกระทบอย่างไรต่อตลาดแรงงาน"

แต่เขากล่าวว่า ภาคธุรกิจจำนวนมากในอังกฤษพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิ การก่อสร้าง การโรงแรม และการเกษตร ขณะที่ภาคอื่นๆ ต้องจ้างแรงงานฝีมือสูง ยกตัวอย่างเช่น ภาคการศึกษาและการเงิน

"Brexit จะเป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจเหล่านั้น และนโยบายผู้อพยพของประเทศในอนาคต ก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก" เขากล่าว

"หนึ่งในความท้าทายก็คือ บางภาคธุรกิจ อาทิ การเรียนการสอน การโรงแรม และธุรกิจอาหาร มีแรงงานชาวยุโรปจำนวนมากที่มีเงินเดือนค่อนข้างต่ำ" เขากล่าว "หากประชาชนเหล่านั้นต้องขอวีซ่าในอนาคต ก็หมายความว่าเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเรื่องวีซ่า หรือธุรกิจต่างๆ จะต้องปรับลดพนักงานลงเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น

นโยบายวีซ่าของอังกฤษในอนาคตจะมีความสำคัญน้อยลงสำหรับภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานฝีมือสูง อาทิ การเงินและไอที ซึ่งเงินเดือนจะเพิ่มขึ้น และสามารถครอบคลุมต้นทุนของกระบวนการขอวีซ่าได้อย่างง่ายดาย

แม้ประชาชนบางกลุ่มกล่าวว่า คนงาน EU เหล่านั้นจะถูกแทนที่โดยคนงานจากประเทศอื่นๆ แต่นายอดรีแจนกลับมองว่า ไม่ใช่ว่าคนงานต่างชาติทั้งหมดจะสามารถทดแทนกันได้

"ผู้อพยพจากประเทศต่างๆ กำลังมองหางานทำที่แตกต่าง และเป็นแรงงานที่ไม่สามารถทดแทนกันได้" เขากล่าว

ข้อมูลจากอินดีด ไฮริ่ง แล็บบ่งชี้ว่า ตำแหน่งงานยอดนิยมที่สุดของพลเมือง EU ไม่เหมือนกับตำแหน่งงานของผู้หางานทำที่ไม่ใช่พลเมือง EU

ประชาชนบางคนโต้แย้งด้วยว่า หลังจาก Brexit แล้ว บรรดานายจ้างที่ไม่สามารถหาคนงาน EU จะพยายามจ้างพนักงานจากอังกฤษ เพราะแม้อัตราการจ้างงานอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังคงมีคนหางานทำในอังกฤษ

แต่นายอดรีแจนอธิบายว่า คนว่างงานเหล่านั้นอาจต้องการตารางเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น หรือการฝึกอบรมมากขึ้น ซึ่งบรรดานายจ้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายอดรีแจนยังคงเชื่อว่า นี่อาจเป็นกลยุทธ์ทางเลือกสำหรับบรรดานายจ้างหลัง Brexit

  • มุ่งเน้นที่การฝึกอบรม
"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้สมัครงานชาวต่างชาติที่มีความสนใจในการหางานทำในอังกฤษนั้น ได้ลดน้อยลง" นายอดีแจนกล่าวย้ำ

เขาตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่การลงประชามติเรื่อง Brexit เงินปอนด์ของอังกฤษได้อ่อนค่าลง ซึ่งทำให้ตำแหน่งงานในอังกฤษมีความน่าดึงดูดใจน้อยลงสำหรับผู้หางานทำที่เป็นชางต่างชาติ

"หากเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินปอนด์ในเชิงลบ" เขากล่าว

สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ในบางภาคธุรกิจในอังกฤษ อาทิ สถานรับเลี้ยงเด็ก และ ไอที กำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ

"พวกเขาควรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมหรือปฏิรูประบบการศึกษา" นายอดรีแจนกล่าว "แต่ โชคร้าย ประเด็นระยะยาวบางประเด็น อาทิ การอบรมความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ได้ถูกละเลย อันเป็นผลจาก Brexit

ผู้หางานทำจากประเทศต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส สเปน และ อิตาลี ยังคงต้องการที่จะเดินทางมายังอังกฤษ หลังการลงประชามติ Brexit แม้ปอนด์ร่วงลงและมีผลกระทบเชิงลบอื่นๆ

นายอดรีแจนกล่าวว่า เพราะตลาดแรงงานในประเทศเหล่านั้นไม่ได้แข็งแกร่งเท่ากับในอังกฤษ นับตั้งแต่ภาวะถดถอยครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เขาระบุด้วยว่า ช่องว่างระหว่างเงินเดือนระหว่างอังกฤษและประเทศอื่นๆ ใน EU อาทิ โปแลนด์ กำลังหดแคบลง ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งงานในอังกฤษมีความน่าดึงดูดใจน้อยลงในอนาคต

นอกจากนี้ การขยายตัวของการจ้างงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงในอังกฤษ

"การจ้างงานกำลังขยายตัว แต่อำนาจซื้อยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงิน" นายอดรีแจนกล่าว "เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตในอังกฤษนั้น กำลังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ อย่างมาก อาทิ เยอรมนี"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ