Analysis: เอเปกจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก

ข่าวต่างประเทศ Monday October 7, 2013 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) เป็นระยะเวลา 2 วัน ปิดฉากลงด้วยแถลงการณ์ร่วม ซึ่งได้เน้นย้ำพันธสัญญาในการจัดทำระบบการค้าแบบพหุพาคีที่อิงกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นสำคัญ การประกาศยืนยันในครั้งนี้อาจกลายเป็นสิ่งกระตุ้นการโต้เถียงในการกำหนดกฏเกณฑ์การค้าโลก

ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมสุดยอดของเอเปก ได้จัดการประชุมในลักษณะเดียวกันกับเอเปก โดยมีสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นแกนนำสำคัญ

รายงานจากสื่อมวลชนก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่า สมาชิก TPP อาจบรรลุฉันทามติในการประชุมสุดยอด แต่แนวโน้มดังกล่าวถูกบดบังหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐได้ยกเลิกแผนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกอย่างกระทันหัน

ขณะที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้พยายามคลายความกังวล โดยการสร้างความมั่นใจว่าการประชุมสุดยอดจะดำเนินไปตามกำหนดการนั้น นิวซีแลนด์ได้กลายเป็นประธานในการประชุมแทนสหรัฐ

การเจรจา TPP นับเป็นการเจรจาการค้าเสรีที่มีความครอบคลุมมากที่สุด โดครอบคลุมถึง 21 ด้าน เช่น ภาษีศุลกากร สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดซื้อโดยภาครัฐ การคุ้มครองสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

แม้ว่าประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศจะเป็นสมาชิกเอเปก แต่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอินโดนิเซีย จีน เกาหลีใต้และรัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิก TPP

อินโดนิเซีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี 2556 รู้สึกไม่พอใจกับ TPP ที่เข้ามาจัดการประชุมบนเกาะบาหลี ครั้งหนึ่งเคยมีรายงานว่าอินโดนิเซียหวังให้ทาง TPP ไปจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมใหญ่ที่อื่นเสีย

ด้านนายโรเบอร์โต อาเซเวโด ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ WTO คนใหม่ ก็รู้สึกไม่สบายใจเช่นเดียวกัน

การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 9 (MC9) ของ WTO จะมีการจัดขึ้นที่บาหลี ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อสานต่อการเจรจาทางการค้ารอบโดฮา

นายอาเซเวโดได้เปิดเผยที่บาหลีเมื่อวันเสาร์ว่า เพื่อผลักดันต่อความพยายามในการเปิดการเจรจาด้านระบบการค้าแบบพหุภาคี WTO จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกเอเปกอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศเหล่านี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อ WTO

แถลงการณ์ร่วมภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปกน่าจะทำให้เขารู้สึกสบายใจขึ้น

แถลงการณ์ดังกล่าวได้แสดงถึงความคาดหวังของเอเปกว่าว่าการประชุม MC9 จะประสบความสำเร็จใน 3 ประเด็นสำคัญด้วยกัน ซึ่งได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า เกษตรกรรมและการพัฒนา พร้อมทั้งยังออกมาเรียกร้องให้สมาชิก WTO ที่เข้าร่วมการประชุมร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง และความยืดหยุ่นเพื่อช่วยลดความแตกต่าง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเจรจา

นายตั๋ง กัวเฉียง ประธานคณะกรรมการแห่งชาติจีนของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแปซิฟิก ระบุว่าอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นทั้งเจ้าภาพการประชุมเอเปกและ MC9 ได้รวบรวมวาระการประชุมทั้งสองไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

การเปิดระบบการค้าแบบพหุภาคี ประกอบกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน

ก่อนหน้านี้ กลุ่มหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ,จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์และอินเดีย ได้เสร็จสิ้นการเจรจาอีกรอบหนึ่งที่นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย

ในเวทีการประชุมอีสต์ เอเชีย ซัมมิท ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาเมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจา ซึ่งครอบคลุมไปถึงขอบข่ายงานเช่น การซื้อขายสินค้าและบริการ และการคุ้มครองการลงทุน โดยได้กำหนดเป้าหมายในการบรรลุข้อตกลงภายในปี 2558 ซึ่งยังเป็นกำหนดเส้นตายในการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

หากการก่อตั้งเป็นผลสำเร็จ RCEP ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 3.4 พันล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การพัฒนาในอนาคตของการเจรจาเขตการค้าเสรีที่สำคัญๆเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อข้อตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นกลไกที่เสนอขึ้นเพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค และระบบการค้าแบบพหุภาคีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มต่างๆที่เข้าร่วมการเจรจา TPP ก็ยังเป็นประเทศสมาชิกเอเปกเช่นเดียวกับสมาชิก RCEP และเป็นเรื่องสำคัญที่การเจรจาเปิดการค้าเสรีควรจะก่อให้เกิดการรวมตัวกันมากกว่าบั่นทอนซึ่งกันและกัน โดยคาดว่าเอเปกจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือนี้

ขณะที่สมาชิกเอเปกได้ออกมาย้ำในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมระดับรัฐมนตรี เอเปกควรเดินหน้าแสดงความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา ยกระดับความโปร่งใสและแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนส่งเสริมการสร้างศักยภาพ

ศาสตราจารย์ เคอิจิ อุมาดะ จากมหาวิทยาลัยเกียวรินเผยว่า การเจรจาเปิดการค้าเสรีไม่ว่าจะ TPP หรือ RCEP จำเป็นต้องส่งเสริมการดำเนินงานกับเอเปก เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการก่อตั้งเขตการค้าเสรี

เฟิง หวู่หยง และ หวาง โป จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ