สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ (1 พ.ค.) ว่า ออสเตรเลียมียอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6.90 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (4.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.23 พันล้านดอลลาร์ และสูงกว่าในเดือนก.พ.ที่มียอดเกินดุลการค้าเพียง 2.97 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
ยอดเกินดุลการค้าในเดือนมี.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2567 เนื่องจากยอดการส่งออกพุ่งขึ้น 7.6% ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลง 2.2% สวนทางกับในเดือนก.พ.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% โดยปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าลดลงในเดือนมี.ค.นั้น มาจากอุปสงค์สินค้าทุนที่อ่อนแอลง
ข้อมูลจาก ABS ยังระบุด้วยว่า ออสเตรเลียส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.071 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของออสเตรเลียกำลังเผชิญกับความท้าทาย ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) เตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือ AAA ออสเตรเลียอาจตกอยู่ในความเสี่ยงหากคำมั่นสัญญาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งส่งผลให้ออสเตรเลียเผชิญกับการขาดดุลโครงสร้าง หนี้สินและต้นทุนดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงแรงกดดันด้านการคลังที่รัฐบาลชุดต่อไปของออสเตรเลียต้องเผชิญ
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จากทั้งสามสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งได้แก่ S&P, ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (Moody's Investors Service)
ทั้งนี้ S&P คาดการณ์ว่าออสเตรเลียจะเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2568 หลังจากที่เกินดุลติดต่อกันสองปี พร้อมกับคาดการณ์ว่า การที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายจำนวนมากนั้นจะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2%-2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นระดับที่แทบจะไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก