PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นเม.ย. 67 ขยายตัวต่อเนื่อง รับดีมานด์แกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 7, 2024 09:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

au Jibun Bank เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ (7 พ.ค.) บ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคบริการของญี่ปุ่นในเดือนเม.ย. 2567 ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 8 เดือน โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พิจารณาปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีกภายในปีนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank แตะที่ระดับ 54.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 54.1 ในเดือนมี.ค. แต่ต่ำกว่าระดับ 54.6 ที่รายงานใน PMI ขั้นต้น

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว และ PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ย. 2565

ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank แตะที่ระดับ 52.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.7 ในเดือนมี.ค.

ผลสำรวจพบว่า ราคาสินค้าและบริการที่บริษัทเรียกเก็บจากลูกค้านั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่การปรับขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายน 2557 บริษัทต่าง ๆ อ้างว่าสาเหตุหลักที่ต้องผลักภาระต้นทุนไปให้ลูกค้านั้นเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงที่สูงขึ้น

ด้าน BOJ ซึ่งตัดสินใจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม BOJ ก็ได้ส่งสัญญาณถึงแนวทางในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบระมัดระวัง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวแบบเปราะบาง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของภาคบริการในญี่ปุ่นช่วยชดเชยความอ่อนแอของภาคการผลิต และเป็นตัวชูโรงที่ช่วยประคับประคองการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคหลังโควิด-19 ความแข็งแกร่งในด้านธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคถือเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้กำหนดนโยบายของประเทศ

ผลสำรวจระบุว่า ยอดสั่งซื้อใหม่มีอัตราเติบโตเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันและโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวขาเข้าที่แข็งแกร่ง ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้วเนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้น ตลอดจนค่าขนส่งและค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ