Spotlight: เหตุโจมตีขั้นนองเลือดบีบเยอรมนีทบทวนและคุมเข้มนโยบายรับผู้ลี้ภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2016 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เยอรมนีต้องสั่นไหวไปกับเหตุโจมตีถึง 4 ครั้งภายในรอบ 1 สัปดาห์ และเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น 3 ใน 4 เกิดจากผู้ลี้ภัยที่ต้องการแสวงหาที่พักพิงใหม่ และผู้ก่อเหตุ 2 รายในจำนวนดังกล่าวก็ถูกอ้างว่าเป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ภาวะไร้ซึ่งความมั่นคงทางสังคมที่เขม็งเกรียวขึ้นนี้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อีกครั้งเกี่ยวกับนโยบายการเปิดรับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลเยอรมนี

เสียงเรียกร้องให้มีการควบคุมกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างเข้มงวดมากขึ้นอีกครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุระเบิดที่เมืองอานส์บาค ซึ่งอยู่ในแคว้นบาวาเรีย ทางตอนใต้ของเยอรมนี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้ก่อเหตุชาวซีเรียวัย 27 ปี และมีผู้บาดเจ็บจำนวน 15 ราย

เหตุระเบิดเกิดขึ้นที่บริเวณทางเข้าเทศกาลดนตรีกลางแจ้งนี้ กลุ่ม IS อ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม ก่อนหน้านี้ ก็ได้เกิดเหตุการทำร้ายร่างกายด้วยขวานโดยผู้ลี้ภัยเชื้อสายอัฟการนิสถานวัย 17 ปี บนรถไฟใกล้กับเมืองเวิร์ซเบอร์กทางตอนใต้ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย และตำรวจได้วิสามัญผู้ก่อเหตุรายนี้

และในวันอาทิตย์เช่นกัน หลังจากที่เกิดเหตุระเบิดที่เมืองอานส์บาค ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 21 ปี ก็ได้สังหารหญิงวัย 45 ปีชาวโปแลนด์ด้วยมีสปาร์ตา ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองโรทลิงเกน

สำหรับเหตุกราดยิงเมื่อคืนวันศุกร์ที่เมืองมิวนิคนั้น ยังไม่พบเบาะแสเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย แต่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ 9 รายเสียชีวิต ผู้ก่อเหตุเป็นชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้อพยพชาวอิหร่านวัย 18 ปีได้ยิงตัวตายหลังเกิดเหตุ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความพยายามของรัฐบาลเยอรมนีในการตัดตอนการเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้ายกับกลุ่มผู้ลี้ภัย รวมทั้งการแก้ปัญหาความวุ่นวายในสังคมภายหลังจากที่เกิดเหตุทำร้ายร่างกายและการปล้นในเมืองโคโลญช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับจำนวนผู้อพยพที่มีมากขึ้น

เมื่อปี 2558 มีผู้อพยพเดินทางมายังเยอรมนีมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านราย และเพิ่มขึ้น 7 แสนรายจากปีก่อนหน้านี้ โดยผู้ลงทะเบียนเพื่อลี้ภัยคาดว่า จะมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านราย

นายฮอร์สท์ ซีโฮเฟอร์ นายกเทศมนตรีแคว้นบาวาเรียได้เรียกร้องให้มีการตัดตอนการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ลี้ภัยเพื่อหาที่พักพิงกับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งนายกเทศมนตรีผู้นี้เป็นพันธมิตรคนสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี

ทางด้านนายไรน์เนอร์ เวนด์ ประธานสหพันธ์ตำรวจเยอรมนี ได้ผลักดันให้มีการตรวจสอบกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคง

"ข้อมูลด้านอัตลักษณ์ของประชาชนที่เดินทางมายังประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายหรือจิตใจจะต้องมีความชัดเจน" นายไรน์เนอร์วิจารณ์

"เราไม่ได้ให้ที่พักพิงและให้อาหารแก่บุคคลเหล่านี้แต่เพียงอย่างเดียว เราจะต้องกำหนดได้ด้วยว่า ใครจะเดินทางเข้าประเทศของเรา และดูด้วยว่า บุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือไม่" เวนด์ กล่าว

ส่วนเบิร์คฮาร์ด ลิชากา ฆษกของสมาชิกรัฐสภาจากพรรคโซเชียล เดโมแครติค กล่าวภายหลังจากที่เกิดเหตุโจมตีด้วยขวานเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ว่า หน่วยรักษาความปลอดภัยต้องการบุคลากรอีก 3,000 รายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ และจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในเยอรมนี

เหตุนองเลือดล่าสุดคาดว่า จะทำให้เกิดความรู้สึกกลัวชาวต่างชาติ และยังก่อให้เกิดการโต้เถียงกันเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยว่าเป็นต้นตอของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากการก่อการร้ายในเยอรมนี

การรวมผู้อพยพเข้ามาสู่สังคมของเยอรมนีเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง โดยผู้ก่อเหตุเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ได้อาศัยอยู่ในเยอรมนีมาเป็นเวลาปีกว่า แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ยังได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม IS มากกว่า

การดำเนินการมากมายที่เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายในประเทศตะวันตกนั้นเป็นเพราะต้องการแก้แค้นการเข้ามาแทรกแซงในจุดสำคัญๆของประเทศเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมทางการทหารและกิจการในระดับภูมิภาคของรัฐบาลเยอรมนีในอนาคต จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ