สภาทองคำโลกเผย ธนาคารกลางและ ETFs หนุนความต้องการทองคำปรับตัวขึ้นในไตรมาส 1/62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2019 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยแพร่รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำฉบับล่าสุดในวันนี้ ชี้ความต้องการทองคำทั่วโลกขยายตัวสู่ระดับ 1,053.3 ตันในไตรมาสแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ธนาคารกลางยังคงเพิ่มการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้แรงหนุนจากกองทุนรวม ETFs

รายงานระบุว่า ธนาคารกลางซื้อทองคำ 145.5 ตันในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 68% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 และถือเป็นการเริ่มต้นปีที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 โดยการกระจายการลงทุนและความต้องการสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปลอดภัยยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แบงก์ชาติเข้าซื้อทองคำ

ความต้องการทองรูปพรรณในไตรมาส 1 แตะที่ 530.3 ตัน ขยายตัว 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากอินเดีย ราคาทองในสกุลเงินรูปีที่ถูกลงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับเทศกาลแต่งงานที่ชาวอินเดียนิยมซื้อทองรูปพรรณเป็นสิดสอดหรือของขวัญ ได้หนุนให้ความต้องการทองรูปพรรณในประเทศปรับตัวขึ้นเป็น 125.4 ตัน เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นระดับสูงที่สุดสำหรับไตรมาส 1 นับตั้งแต่ปี 2558

ETFs และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีลักษณะคล้ายกัน เพิ่มการซื้อทองคำ 40.3 ตันในไตรมาส 1 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 49% โดยกองทุนจดทะเบียนในตลาดสหรัฐและยุโรปได้ประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าสูงสุด อย่างไรก็ดี กองทุนในสหรัฐมีปัจจัยการซื้อไม่แน่นอน ขณะที่กองทุนในยุโรปได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่

การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญอ่อนลงเล็กน้อย โดยลดลง 1% มาอยู่ที่ระดับ 257.8 ตัน การปรับตัวลงนี้มีสาเหตุมาจากความต้องการทองคำแท่งลดลงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการซื้อเหรียญทองยังขยายตัวได้ 12% สู่ระดับ 56.1 ตัน จีนและญี่ปุ่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนดังกล่าวลดลง โดยในญี่ปุ่น การลงทุนสุทธิพลิกติดลบจากแรงขายทำกำไร หลังจากที่ราคาทองในประเทศพุ่งทะยานขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

การใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ เช่น ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไร้สาย และไฟ LED ปรับตัวลดลง 3% แตะที่ 79.3 ตัน เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้า ยอดขายที่ซบเซาของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

อลิสแตร์ ฮิววิตต์ Head of Market Intelligence ประจำสภาทองคำโลก กล่าวว่า "ความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัวขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปี 2562 ทั้งในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ แต่ถึงกระนั้นความต้องการทองคำก็ยังคงแข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 1 ปีนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เพิ่มการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกองทุน ETFs ที่เพิ่มการลงทุนในทองคำเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2561 การลงทุนในกองทุน ETFs ยุโรปทำสถิติสูงสุด และสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยการลงทุน ซึ่งได้แก่ อัตราผลตอบแทนติดลบของพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซน ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของตลาดการเงิน จะยังคงสนับสนุนความต้องการลงทุนต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางจากทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ชะลอการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด และมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบาย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนทองคำ"

สำหรับอุปทานทองคำทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาส 1 โดยอยู่ที่ระดับ 1,150 ตัน การทำเหมืองแร่ทองคำและการรีไซเคิลทองที่เติบโตขึ้นเล็กน้อย ถูกหักลบด้วยการป้องกันความเสี่ยงสุทธิที่ปรับตัวลดลง การทำเหมืองแร่ทองคำและการรีไซเคิลทองเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นแตะ 852.4 ตัน และ 287.6 ตัน ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ